HoonSmart.com>>วันนี้จะพามาทำความรู้จักการจัดพอร์ตลงทุนตามสไตล์ของบลจ.กรุงไทย (KTAM) ให้รับมือได้ในทุกสถานการณ์ เน้นหุ้นพื้นฐานดี เป็นพอร์ตหลัก และจับจังหวะเพิ่มโอกาสทำกำไร ลดความผันผวน เป็นพอร์ตรอง พร้อมคัด 4 กลุ่มธุรกิจที่เติบโตได้ในช่วงเศรษฐกิจโตต่ำ ย้ำหุ้นไทยยังมีหุ้นที่ลงทุนได้

การจัดพอร์ตให้แข็งแกร่ง
นางแสงจันทร์ ลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย KTAM) กล่าวว่า มีการจัดโครงสร้างพอร์ต แบ่งเป็นพอร์ตหลัก (Core Port) 70% และ พอร์ตจับจังหวะตลาด (Satellite) 30%
พอร์ตหลัก (Core Port) สัดส่วน 70% ซึ่งอาจจะมากกว่า หรือ น้อยกว่านี้ก็ได้ จะเน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีคุณภาพ กำไรเติบโตดี ราคาไม่ผันผวนมาก ราคาเหมาะสมกับศักยภาพการเติบโตของกำไรในอนาคต เน้นลงทุนระยะยาว แต่ระหว่างทางก็มีการปรับเล็กปรับน้อยไปด้วยหากถึงจังหวะที่ทำกำไรได้
การเลือกหุ้น ก็จะดูความแข็งแกร่งของบริษัท ทั้งด้านฐานะการเงิน โครงสร้างทางการเงิน คุณภาพของกำไร คือกำไรมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว และปันผลเข้ามาสม่ำเสมอ ซึ่งปันผลอาจไม่สูงก็ได้ มีทั้งหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดกลาง และหุ้นขนาดเล็ก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ต้องหลีกเลี่ยงหุ้น และกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีการค้า และปัจจัยอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีผลกระทบ
นางแสงจันทร์ กล่าวต่อว่า อีกพอร์ต คือ พอร์ตที่จะมีการจับจังหวะตลาด (Satellite) 30% เพื่อบริหารความผันผวน ลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสทำกำไร ซึ่งหุ้นบางตัวอาจจะซ้ำกับหุ้นใน Core Port เช่น การเล่นหุ้นตามแนวโน้มต่างๆ
ยกตัวอย่าง หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มราคาปรับเพิ่มขึ้น หรือ กำไรเพิ่มขึ้น และปัจจัยพื้นฐานดีอยู่แล้ว เมื่อราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะเข้าไปเก็บ แล้วขายเมื่อราคาสูงขึ้น
4 กลุ่มเด่นที่ยังเติบโตดี
นางแสงจันทร์ กลุ่มที่มองว่าจะยังเติบโตได้ดีในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1. กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพราะคู่แข่งเหลือน้อยลง ทำให้ราคาของบริการและผลิตภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ต้นทุนลดลง และหากมีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่เพิ่มเข้ามาอีก จะทำให้ต้นทุนในการบริการลดลงอีก ความสามารถในการทำกำไรจะเพิ่มขึ้น
2.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ (Health Care) มีผลประกอบการที่ดีขึ้นทั้งจากผู้ป่วยคนไทยที่ยังเติบโต และประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ความต้องการใช้บริการด้านสุขภาพที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ประกอบกับผู้ป่วยต่างชาติยังคงเข้ามาใช้บริการยังดีอยู่
แม้จะมีเรื่องประกัน Copayment เข้ามา แต่จะส่งผลกระทบน้อยมากต่อกลุ่มโรงพยาบาล
3.กลุ่มธนาคาร (BANK) มีความเข้มแข็ง ตรงที่มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการควบคุมเรื่องฐานะการเงิน มีการให้ตั้งสำรองที่เพียงพอครอบคลุมสินเชื่อด้อยคุณภาพและหนี้เสีย หรือ NPL มีฐานทุนที่เพียงพอ มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ยิ่งมีการซื้อหุ้นคืน ทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่ม (ROE) เพิ่มขึ้น
แม้ว่าในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) แคบลง แต่ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะลดลงช้ากว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รายได้ของธนาคารก็ยังดีอยู่
4.กลุ่มพาณิชย์ ( COMMERCE) ในส่วนที่เป็นของกินของใช้ หรือ อุปโภคบริโภค รายได้ยังคงเติบโตเป็น 2 เท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) โดยได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การเติบโตของนักท่องเที่ยว และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง
นางแสงจันทร์ กล่าวว่า 4 กลุ่มข้างต้นมีโอกาสเติบโตในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ว่าหุ้นทุกตัวในกลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตเหมือนกันหมด ต้องเลือกหุ้นเป็นรายตัว ดูจากราคาหุ้น ต้องถูกและราคาจะไม่ลงอีก ดูราคาปัจจุบันกับศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดี และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทย ยังชนะอัตราเงินเฟ้อ ชนะเงินฝาก และชนะหุ้นกู้ ซึ่งปัจจุบันหุ้นกู้อายุ ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.14% เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของหุ้นในตลาดหุ้นไทยที่อยู่ระดับ 3%-4%
สรุปว่า การจัดพอร์ตที่ดี การเลือกหุ้นที่ถูก นอกจากจะช่วยให้รับมือกับทุกสภาวะตลาดได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพแล้ว หุ้นไทยยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน และหุ้นกู้
รายงานโดย วารุณี อินวันนา