MFC เดินหน้ารุกธุรกิจเต็มสูบ หวัง “กบช.” หนุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโต

HoonSmart.com>> “บลจ.เอ็มเอฟซี” (MFC) หวัง “กบช.” หนุนการเติบโตธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ส่งสัญญาณเริ่มอิ่มตัว สมาชิกเก่าทยอยเกษียณ เงินใหม่เม็ดเงินน้อย กางแผนปีนี้เดินหน้าธุรกิจเต็มรูปแบบ ประเดิมต้นปีได้รับแต่งตั้งบริหารเงิน PVD มูลค่า 5,000 ล้านบาท ธุรกิจ “กองทุนส่วนบุคคล” รุกหนักขยายฐานกลุ่มประกัน-บจ.-สหกรณ์ออมทรัพย์” ส่วน “กองทุนรวม” เติมโปรดักส์ให้ครอบคลุมการลงทุน ออกกองทุนรูปปบบใหม่ๆ ช่วยนักลงทุนจัดพอร์ตได้สมบูรณ์มากขึ้น

เกษตร ชัยวันเพ็ญ

นายเกษตร ชัยวันเพ็ญ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด สายการขายและการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวว่า อุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ในปีที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เริ่มมีนายจ้างกลับมาคำนึงถึงเรื่องสวัสดิการเพื่อเกษียณของลูกจ้างอีกครั้ง ทำให้จำนวนนายจ้างใหม่ที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นในจำนวนเกือบใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด จึงคาดว่าปีนี้จำนวนนายจ้างใหม่ที่จะพิจารณาจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน่าจะกลับมาปกติ หรืออาจจะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดได้

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นจำนวนนายจ้างใหม่และเม็ดเงินสะสมสมทบได้อีกอย่างมาก คือ การที่ภาครัฐผลักดันให้การจัดตั้ง กองทุนบำเหน็จบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ออกมาเป็นรูปธรรมและมีผลบังคับใช้ได้ในปีนี้ ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้จริงในปีนี้ จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากในตลาดการเงินของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งตลาดเงินและตลาดทุนสร้างเสถียรภาพของตลาดการเงินไทยเป็นอย่างมาก

นายเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันกบช.ได้ผ่านกฤษฎีกาแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการเข้าครม.เพื่ออนุมัติบังคับใช้ แต่เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่เอื้อที่จะเพิ่มภาระให้กับผู้ออมและผู้ประกอบการในการจ่ายเงินสมทบ อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงมีโอกาสที่กบช.อาจยังไม่ถูกนำเข้าครม. อย่างไรก็ตามการเลื่อนออกไปเพียงรอโอกาสที่เหมาะสม ไม่ต้องตั้งเรื่องทำการศึกษาใหม่ หรือเริ่มนับศูนย์ใหม่ ซึ่งจะทำให้กระบวนการพิจารณานาน ดังนั้นหากจังหวะเหมาะสมกระทรวงการคลังสามารถนำเสนอต่อครม.พิจารณาได้ทันที

อย่างไรก็ตามมองว่าแม้จะมีกบช. ที่เป็นกองทุนออมภาคบังคับ แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน เนื่องจากมีความยืดหยุ่นกว่า เช่น กรณีสมาชิกมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็เอาออกก่อนได้ เมื่อเทียบกับกบช.ที่ต้องรอรับเงินตอนเกษียณอายุ เป็นต้น

“เรามองกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่อนข้างที่จะอิ่มตัวแล้ว หากไม่มีกบช.เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า สมาชิกที่เก่าที่เกษียณออกไปมีเงินสะสมที่สูงกว่าเงินไหลเข้า จากสมาชิกใหม่ในวัยเริ่มต้นทำงาน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเม็ดเงินออกไปมีมากกว่าเม็ดเงินเข้ามาใหม่ ดังนั้นหาก กบช.ไม่เข้ามาเป็นตัวสนับสนุนระบบการออมเพื่อเกษียณแล้ว เม็ดเงินใหม่ที่จะเข้ามาในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะลดน้อยลงไป เหมือนมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว”นายเกษตร กล่าว


ที่มา : สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
สำหรับ MFC มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ในส่วนของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักบริหารอยู่มากกว่า 600 นายจ้าง เม็ดเงินสูงถึง 1 แสนล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม (ข้อมูลสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ส่วนแบ่งอันดับ 5)

“เมื่อต้นปีที่ผ่านได้รับการแต่งตั้งให้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มอีกเป็นจำนวนถึงเกือบ 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการเริ่มเปิดศักราชใหม่ โดยเราพยายามหาจุดการให้บริการและ Solutionใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ Pain point ของสมาชิกกองทุนที่เป็นความต้องการที่แท้จริง และแตกต่างเพิ่มเติมจากการบริการที่มีอยุ่ เช่น การพัฒนา Feature ใหม่ๆใน Application ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้บางกองทุนเลือกใช้บริการงานทะเบียนสมาชิกของ MFC เพิ่มเติมและต่อเนื่อง”นายเกษตร กล่าว

นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่ MFC พยายามส่งเสริมสำหรับธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ การนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญประกอบการวางแผนเกษียณของพนักงานแต่ละท่าน โดยให้ความรู้แก่สมาชิกเรื่องของ Employee’s Choice คือ การที่แนะนำให้สมาชิกศึกษาเรื่องการเลือกทรัพย์สินการลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของตนเอง และระยะเวลาลงทุนที่อยู่ในกองทุน เพื่อเป็นการเพิ่มเม็ดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตนเองจะได้รับตอนเกษียณอายุนั่นเอง

ปัจจจุบัน MFC มีประเภทสินทรัพย์ให้เลือกมากกว่า 20 แบบ อาทิ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาฯ ทองคำ ฯลฯ ดังนั้นหากบริษัทใดสนใจสามารถติดต่อให้ทางบริษัทเข้าไปนำเสนอบริการและแนวทางใหม่ๆได้

ส่วนธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล MFC บริหารเงินลงทุนกว่า 38,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งบุคคลและสถาบัน โดยเฉพาะในส่วนของสถาบัน MFC ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การอิสระ บริษัท มหาวิทยาลัย และสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเฉพาะในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นเราบริหารให้กับสหกรณ์มากกว่า 20 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่อีกตลาดในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลของเราทีเดียวและในปีนี้ MFC มีแผนจะขยายการให้บริการไปในกลุ่มของบริษัทประกันและบริษัทเอกชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่ง MFC มีฐานลูกค้าใหญ่อยู่แล้วเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายเกษตร กล่าวว่า สำหรับธุรกิจกองทุนรวมบริหารเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ในปีนี้มีแผนจะออกกองทุนให้ครอบคลุมในหลากหลายสินทรัพย์ ครบทุกรูปแบบ เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน ในประเทศ และ ต่างประเทศ ในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งกองทุนในลักษณะ Thematic ที่น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต นอกจากนั้น ในปีนี้ MFC จะมีประเภทสินทรัพย์ใหม่มานำเสนอนักลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะสามารถออกกองทุนประเภทใหม่ได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้อีกด้วย เพื่อการจัดสำรับการลงทุนได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

“เรายังคงมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์การลงทุนที่ดีให้แก่ลูกค้า ทั้งการแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงและสร้างความยั่งยืนให้แก่การลงทุน ผ่านผู้แนะนำการลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์ รวมถึงการให้บริการแบบครบกระบวนการแนะนำไปถึงการทำธุรกรรมผ่านผุ้แนะนำได้รวดเร็วและมีความปลอดภัยและเรามีทีมกลยุทธ์การลงทุนที่คอยอัพเดทสถานการณ์การลงทุนและแนะนำปรับพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม”นายเกษตร กล่าว

นอกจากนี้ MFC มี MFC Wealth ซึ่งเป็น Mobile Application ที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถจัดการพอร์ตการลงทุนได้ด้วยตัวท่านเอง ตอบโจทย์ทั้งลูกค้ากองทุนรวมและลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ใน Application เดียว โดยมีพอร์ตแนะนำเป็น guideline หรือลงทุนตามพอร์ตแนะนำได้เลย เพื่อเป้าหมายการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนเกษียณ การลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง เป็นต้น โดยในปีนี้จะมีการพัฒนาฟังก์ชั่นการปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างง่ายๆสำหรับพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวม และอัพเดทสถานการณ์กองทุนแบบ Personalization ให้แก่ลูกค้าอีกด้วย

ทั้งนี้นักลงทุนสามารถติดตามอัพเดทสิ่งใหม่ๆจากเราได้ที่ Line official, Facebook, Website และ MFC Wealth (Mobile Application)