ตลท.เพิ่ม 4 เกณฑ์เข้มปลุกเชื่อมั่น คาดบจ.ติดป้าย CB พุ่งเป็น 50 บริษัท

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มเกณฑ์กำกับ 4 เรื่องใหญ่ ทัดเทียมตลาดหุ้นในภูมิภาค ครอบคลุม IPO เข้าเทรดแล้วกำไรต้องแกร่ง  หุ้นสภาพคล่องสูง  เข้าตลาดหุ้นทางอ้อมยากขึ้น  ทำไม่ได้แขวน CB,CS,CC,CF เพิ่ม คาดรอบแรกจ่อแปะป้าย CB 50 ตัว จากปัจจุบันติด C  จำนวน 19 บริษัท หวังผลกติกาใหม่ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและเทศได้

น.ส.ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับปรุงเกณฑ์การกำกับ 4 ด้านใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่การเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการเพิกถอน เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลและการเตือนผู้ลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน และทัดเทียมกับตลาดในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ประกอบด้วย

1. เพิ่มกำไรปีล่าสุดของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน หรือ IPO ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ( mai) ต้องมีขั้นต่ำ 75 ล้านบาท และ 25 ล้านบาท ตามลำดับ จากเดิม 30 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท และต้องมีกำไรติดต่อกันในช่วง 2-3 ปีรวมไม่น้อยกว่า 125 ล้านบาท และ 20 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท และในตลาดหลักทรัพย์ mai ไม่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นเป็น 800 ล้านบาท และ 100 ล้านบาท แต่ได้ลดทุนชำระแล้วสำหรับบริษัทจะเข้า SET จากขั้นต่ำ 300 ล้านบาท เหลือขั้นต่ำ 100 ล้านบาท ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือ Free Float 20% จากเดิม 15% และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิม 25% เพราะมองว่าถึงจะมีทุนจดทะเบียนน้อย แต่สภาพคล่องต้องสูง ส่วนบริษัทที่มีทุนชำระแล้วมากกว่า 300 ล้านบาทยังคงเดิม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2568 เพื่อให้บริษัทมีโอกาสปรับตัว

“ก่อนที่จะมีการปรับเกณฑ์ เราได้ดูหลายๆ ปัจจัย รวมถึงเกณฑ์การกำกับของตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ด้วย ซึ่งเราพบว่ามีการผ่อนคลายกว่า เช่น ทุนจดทะเบียนของบริษัทที่จะเข้า IPO ต่ำ อาจเพราะเราไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2548 และเราพบว่าบริษัทที่ IPO ส่วนใหญ่จะมีทุนจดทะเบียนสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่วางไว้ จึงเริ่มปรับให้สูงขึ้น และที่เน้นคือหุ้นต้องมีสภาพคล่องสูง และก็ไม่ได้มีแค่ตลาดเดียวเหมือนก่อน ตอนนี้มี SET มีตลาด mai และมีตลาด LiVEx ไว้รองรับบริษัททุกขนาดเข้ามาระดมทุน และที่สำคัญคือการเพิ่มการเตือนให้นักลงทุน เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้บริษัทมีการปรับปรุงตัวเองให้มีคุณภาพ โดยเราจะไม่เน้นปริมาณ แต่จะเน้นคุณภาพ และเชื่อว่าจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไทย”นางสาวปวีณา กล่าว

นางดวงรัตน์ สมุทวณิช ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานกำกับ บริษัทจดทะเบียนและตราสารอื่น ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า เรื่องที่ 2. คือ การยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยเพิ่ม 4 เหตุที่จะเตือน  ด้วยเครื่องหมาย CB กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน   ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ Equity ต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว/ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ผลการดำเนินงาน สภาพคล่องทางการเงินล้มละลาย ทั้งกรณีไม่มีธุรกิจ มีขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี หรือผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ , CS กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน ,CC กรณีบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น Cash Company มีคณะกรรมการตรวจสอบหรือ CF กรณี Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือไม่จัด Opportunity Day ตามที่กำหนด

“ปัจจุบันติดเครื่องหมาย C ที่มีเหตุจากปัญหาฐานะการเงินอยู่ 19 บริษัท เมื่อเกณฑ์ใหม่ใช้ในวันที่ 25 มี.ค.2567 จะมีบริษัทที่จะถูกขึ้นเครื่องหมาย CB ทั้งหมด ราวๆ 50 บริษัท แต่เมื่อถึงเวลาอาจจะน้อย หรือมากกว่านี้ก็ได้ และนักลงทุนที่จะเทรดหุ้นเหล่านี้ จะต้องเทรดด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น และต้องนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนภายใน 15 วัน แต่ถ้าบริษัทเหล่านั้นไม่แก้ไขภายในเวลาที่กำหนดจะขึ้นเครื่องหมาย SP คือบริษัทที่เข้าเกณฑ์ถูกเพิกถอน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 20 บริษัท และจะเพิกถอนออกจากตลาดฯถ้ายังแก้ไขไม่ได้ “นางดวงรัตน์ กล่าว

นางดวงรัตน์ กล่าวว่า  เกณฑ์ที่ 3  เพิ่มเหตุเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนไม่มีธุรกิจต่อเนื่องหลายปี หรือไม่สามารถแก้ไข Free Float ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน และ

4.เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน โดยการปรับปรุงในข้อ 2–4 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป