KTAM เสิร์ฟกองทุนหุ้นเทค KT-TECHNOLOGY ขายครั้งแรก 19-27 ก.พ.นี้

HoonSmart.com>> “บลจ.กรุงไทย” (KTAM) เปิดขายกองทุนหุ้นเทค “KT-TECHNOLOGY” ชูจุดเด่นกระจายการลงทุนในทุกธีมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี “เก่า” และ “ใหม่” เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการเติบเติบโตในระยะยาว เสนอขายครั้งแรก 19-27 ก.พ.67 ทางเลือกลงทุนทั้งกองทุนรวมทั่วไปชนิดสะสมมูลค่า และกองทุนภาษี SSF

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงโดดเด่นต่อเนื่องจากกระแส AI รวมถึงการใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีการขยายตัวทั่วโลก เราได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ จึงได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดเคแทม World Technology (KT-TECHNOLOGY) โดยเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 19 – 27 ก.พ. 67 นี้ ทั้งชนิดสะสมมูลค่า (KT- TECHNOLOGY-A) และชนิดเพื่อการออม (KT- TECHNOLOGY-SSF)

กองทุน KT-TECHNOLOGY (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 7) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Fidelity Funds – Global Technology Fund Y-ACC-USD (กองทุนรวมหลัก) เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV โดยกองทุนรวมหลักมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนจากการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลก รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนา ผู้นำมาใช้ หรือผู้ได้รับประโยชน์ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

สำหรับกองทุนรวมหลักมีการบริหารการลงทุนแบบเชิงรุก (Active Investing) และสามารถลงทุนได้อย่างยืดหยุ่นโดยไม่มีข้อจำกัด (Unconstrained Strategy) โดยจะลงทุนค่อนข้างกระจุกตัวในหุ้นประมาณ 50-100 บริษัท และค่อนข้างที่จะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่มากกว่าดัชนีอ้างอิง โดยจะหาโอกาสการลงทุนในหุ้นที่อยู่ภายใต้ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่ม Growth หุ้นเติบโตในระยะยาว โดยอาศัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ 2) กลุ่ม Cyclical หุ้นที่มีการเติบโตตามวัฎจักรได้เป็นอย่างดี และต้องมี Balance Sheet ที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนในระยะสั้นๆ และ 3) กลุ่ม Special Situations ได้แก่บริษัทที่มูลค่าในปัจจุบันแตกต่างจากมูลค่าที่แท้จริงเป็นอย่างมาก บริษัทที่มีโอกาสฟื้นตัวสูง บริษัทที่อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของทีมผู้บริหารจัดการ หรือบริษัทที่ตกเป็นเป้าหมายในการถูกเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น

นอกจากการสร้างโอกาสในการลงทุนจากการกระจายการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยไม่จำกัดเพียงแต่การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวแล้วนั้น กองทุนรวมหลักยังให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างมากอีกด้วย สะท้อนได้จากผลการดำเนินงานนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนของทางกองทุนรวมหลักที่สามารถเอาชนะดัชนีอ้างอิงและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มกองทุนเทคโนโลยีได้ในระยะยาว ในขณะที่ความผันผวนโดยเฉลี่ยก็ต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มกองทุนเทคโนโลยีได้อีกด้วย (ที่มา: Fidelity International, ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67) โดยกองทุนรวมหลักเน้นลงทุนแบบ Contrarian โดยให้ความสำคัญกับระดับราคา (Valuation) เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนรวมหลักมีนํ้าหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ที่ต่ำกว่าดัชนีอ้างอิง และมีนํ้าหนักการลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-ขนาดเล็ก ที่มากกว่าดัชนีอ้างอิง ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่มีระดับราคาที่ถูกกว่า และมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการตกเป็นเป้าหมายของการถูกเข้าซื้อและควบรวมกิจการ

โดยปัจจุบันกองทุนรวมหลักมีสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ 5 อันดับแรก ได้แก่ Microsoft, Apple, Taiwan Semiconductor Manufacturing, Ericsson และ Qualcomm (ที่มา: Fidelity International, KTAM, ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67)

“กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงโดดเด่นต่อเนื่องจากกระแส AI รวมถึงการใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าตลาดของกลุ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลกมีโอกาสขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงปีละ 36.8% จนถึงปี 2575 (ที่มา : GlobeNewswire ข้อมูล ณ วันที่ 28 มี.ค. 66) อีกทั้งการลดดอกเบี้ยของ Fed ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าหุ้นในกลุ่มเทคฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของทาง Fidelity International ยังได้ทำการวิเคราะห์และประมาณการแนวโน้มของการเติบโตในปี 2567 โดยแบ่งตามรายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม (ที่มา: Fidelity International, ข้อมูล ณ วันที่ 7 พ.ย. 66) เราจึงเล็งเห็นว่าหุ้นกลุ่มนี้มีความน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตในระยะยาว และจุดเด่นที่สำคัญของกองทุนนี้คือ การกระจายการลงทุนทั้งในเทคโนโลยี “เก่า” และ “ใหม่” จึงเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนได้อีกทางหนึ่ง” นางชวินดา กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการได้ที่ บลจ.กรุงไทย โทร. 0-2686-6100 กด 9 หรือธนาคารกรุงไทยและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (ถ้ามี) หรือศึกษารายละเอียดได้ที่ www.ktam.co.th สนใจเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น KTAM Smart Trade ได้ที่ https://bit.ly/KTSTSignIn

ปัจจัยความเสี่ยงของกองทุน KT-TECHNOLOGY ที่สำคัญ : ความเสี่ยงทางตลาด ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของการลงทุน ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน ความเสี่ยงของตลาดเกิดใหม่ ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ ความเสี่ยงในเรื่องคู่สัญญาในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ และความเสี่ยงที่เกิดจากการย้ายการลงทุนไปกองทุนอื่น