บสย.ตั้งเป้าปี’67 ค้ำประกัน 115,600 ลบ. ช่วย SME เข้าถึงสินเชื่อ ลดดบ.

HoonSmart.com>>บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตั้งเป้าปี 67  ค้ำประกันสินเชื่อ 115,600 ล้านบาท ลุยกลยุทธ์ 3 ช่วย สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบให้มากขึ้นเพื่อลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้และแก้หนี้อย่างยั่งยืน วางแผนยุทธศาสตร์ และทิศทางการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด “TCG Fast-Forward Sustainable Credit Guarantee” ยกระดับการค้ำประกัน เชื่อมการบริการใหม่ เข้าถึง SMEs มากขึ้น ตามเป้าหมาย SME Digital Gateway

 

1. ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อ 115,600 ล้านบาท สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (ดำเนินการ 2 โครงการหลักคือ 1.โครงการค้ำประกัน ที่ บสย. พัฒนาขึ้น วงเงิน 75,600 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีแรกไม่เกิน 5% วงเงิน 40,000 ล้านบาท)

2. ขับเคลื่อนองค์กรก้าวสู่การเป็น Credit Mediator และ SMEs Digital Gateway กองหน้า กองกลาง และ กองหลัง ดังนี้
– กองหน้า : เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ครบวงจร (บสย. F.A. Center) ปรับรูปแบบบริการ สำนักงานเขต 11 สาขาทั่วประเทศ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ให้ความรู้ช่วยเหลือ SMEs ในด้านการเงินและธุรกิจ เพื่อยกระดับเป็น บสย. Business School

– กองกลาง : ก้าวสู่ระบบนิเวศน์ทางการเงิน (Ecosystem) พัฒนา Digital Platform เดินหน้าเฟส 2 สู่ “SMEs Digital Gateway” เชื่อมระบบการค้ำประกันสินเชื่อด้วย Digital Guarantee Platform และบริการใหม่จาก LINE OA @tcgfirst การพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ แบบราย Segment เจาะกลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระ หนี้นอกระบบ นิติบุคคล ธุรกิจยั่งยืนและสิ่งแวดล้ม

– กองหลัง : เพิ่มมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน คือ “มาตรการปลอดดอกเบี้ย” ขยายเวลามาตรการ 3 สี (ม่วง เหลือง เขียว)

บสย. พร้อมช่วย” ผ่อนน้อย เบาแรง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องอีก 1 ปี และ “มาตรการปลดหนี้” ต่อยอด “มาตรการสีฟ้า” ปลดหนี้ ลดต้น 15% สำหรับลูกหนี้ บสย. มาตรการสีเขียว ผ่อนดี 3 งวดต่อเนื่อง สิ้นสุดระยะเวลาทดลองโครงการเฟสแรก 30 มิ.ย.2567 และ “มาตรการแก้หนี้” พักหนี้ 1 ปี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ม.ค. 2567-30 มิ.ย. 2568) โดยเปิดลงทะเบียนไปเมื่อ 1 ม.ค.2567 ผ่านช่องทาง Line Official Account @tcgfirst และสำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศ

” บสย.ช่วย SMEs เข้ามาใช้สินเชื่อในระบบ แทนการใช้สินเชื่อบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูง 17-24% หากใช้สินเชื่อธุรกิจเหลือดอกเบี้ย 10-15%  ยังเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย เพราะปัญหาที่พบ คือ ผู้ประกอบการไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริง ไม่สามารถคำนวณกำไรและขาดทุน มีผลต่อกระแสเงินสด นำไปสู่การใช้สินเชื่อผิดประเภท”

สิทธิกร ดิเรกสุนทร

นายสิทธิกร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 ว่า บสย. ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการส่งไปให้กระทรวงการคลังแล้ว โดยตั้งวงเงินไว้ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติจากกระทรวงการคลัง

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 นั้น บสย. ได้อนุมัติค้ำประกัน รวม 114,025 ล้านบาท ทะลุเป้าหมาย 95,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการภาครัฐ (PGS 10 และโครงการอื่นๆ) 51,249 ล้านบาท (สัดส่วน 45%) ค้ำเฉลี่ยต่อราย 5.9 แสนบาท
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2 43,376 ล้านบาท (สัดส่วน 38%) ค้ำเฉลี่ยต่อราย 5.3 ล้านบาท
3. โครงการ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 19,400 ล้านบาท (สัดส่วน 17%) ค้ำเฉลี่ยต่อราย 2.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ กรุงเทพ-ปริมณฑล 45% และภูมิภาค 55%

ส่วนการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ SMEs เพื่อความยั่งยืน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการค้ำประกันรายย่อย Micro Entrepreneurs โครงการ Start up Innovation โครงการ Green SMEs โครงการหนี้นอกระบบและโครงการพิเศษ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการ PGS สำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ ได้สินเชื่อ 99,298 ราย 80% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs ) สามารถรักษาการจ้างงาน รวม 855,087 ตำแหน่ง สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 470,388 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบ 124,815 ล้านบาท (คิดเป็น 1.10 เท่า ของยอดค้ำประกัน)

ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 5 ลำดับในปี 2566 ได้แก่ 1. ภาคบริการ 30% 2. ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 10% 3. ภาคเกษตรกรรม 10% 4. ภาคอาหารและเครื่องดื่ม 9% และ 5. สินค้าอุปโภค-บริโภค 8% โดย 3 ลำดับแรก ครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 50% ของพอร์ตวงเงินค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมด

“สัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อภาคบริการ มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง ตามภาคท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการผลิตสินค้า และการค้าอื่นๆ และ ภาคเกษตรกรรม หดตัวเล็กน้อย กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มยานยนต์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2565 สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยต่อสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวสนับสนุนภาคการบริโภค” นายสิทธิกร กล่าว

สำหรับโครงการแก้หนี้ SMEs สามารถช่วยผู้ประกอบการแก้หนี้ สะสมตั้งแต่ปี 60-66 ช่วยลูกหนี้เข้าโครงการประนอมหนี้ 19,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ปรับโครงสร้างสะสม 6,942 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วง เม.ย.2565 – ปี 2566 ที่ บสย.ออกมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” มาตรการ 3 สี ม่วง, เหลือง, เขียว “ผ่อนน้อย เบาแรง” ดอกเบี้ย 0% บสย.สามารถช่วยลูกหนี้ได้รับการประนอมหนี้จำนวน 13,378 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 4,723 ล้านบาท และในปี 2567 บสย.ยังคงเดินหน้ามาตรการช่วยลูกหนี้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง