“KGI”เปิด 3 DR ลุยตลาดหุ้นจีน-ญี่ปุ่น จับธีมกระตุ้นศก.รอหุ้นรีบาวด์-นิวไฮ

HoonSmart.com>>เคจีไอ รุกตลาด “DR”พาลงทุนหุ้นจีน รอจังหวะเด้งกลับหลังดัชนีรูด 60% P/E เหลือ 7 เท่า กับตลาดหุ้นญี่ปุ่น รับโอกาสดัชนีทำนิวไฮ จากนโยบายรัฐจี้บจ.ประกาศแผนการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ หลังฟรีซร่วม 3 ปี เผยจุดเด่นสภาพคล่องสูงกว่าคู่แข่งผ่านระบบซื้อ-ขาย DR เป็นหลักล้าน ได้หุ้นทันที ข้อดีไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการขายหุ้นต่างประเทศ เปิดขาย 1 เดือน AUM กว่า 100 ล้านบาท เตือนศึกษาข้อมูลให้พร้อม ก่อนเข้าลงทุน

นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI ได้เปิดตัว Depositary Receipt (DR) หรือ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงหุ้น และ อินเด็กซ์ต่างประเทศ 3 หลักทรัพย์พร้อมกัน เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ แต่ไม่อยากลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง สามารถลงทุนผ่าน DR ที่ KGI เป็นผู้ออกขาย ซึ่งลูกค้าจะได้สิทธิในหุ้นต่างประเทศที่บริษัทใช้อ้างอิงทุกประการ

หลังจากประสบความสำเร็จในการออก Derivative Warrant (DW) หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ DW13 ที่ทำสตอรี่โด่งดังครองส่วนแบ่งตลาดในหุ้นไทยอันดับ 1 ที่ 48% ในปี 2566 และปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 1,300 ล้านบาทต่อวัน

สำหรับ จุดเด่น ในการลงทุนผ่าน 3 DR ใหม่ของ KGI คือ หนึ่ง มีสภาพคล่องสูง เพราะบริษัทมีการตั้งคำสั่งซื้อ (Bid) และขาย(Offer) หลักล้าน Bid-Offer ถือว่าสูงสุดแล้วในระบบ โดยเชื่อมต่อกับตลาดต่างประเทศ ทำให้ได้หุ้นในทันที ณ ราคาเรียลไทม์ สอง นักลงทุนไม่ต้องเปิดบัญชีหุ้นที่ต่างประเทศ สามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นในประเทศได้เลย

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนใน DR ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการขายหุ้นด้วย เพราะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าลงทุนตรงในหุ้นต่างประเทศจะต้องเสียภาษีเมื่อนำกำไรกลับเข้ามาในประเทศ

“เราเปิด DR 3 หลักทรัพย์ โดยมีการลงทุนผ่าน ETF ไปเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2567 มี JAPAN13 ถือเป็น DR ไทยตัวแรกที่ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ผ่าน ETF ที่มีการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่กว่า 200 ตัว และ HK13 ลงทุนในกองทุนหุ้นที่ลงทุนตามดัชนี Hang Seng ครอบคลุมหุ้น 80 บริษัท กับ HKTECH13 ลงทุนในกองทุน Hang Seng TECH Index ETF (3032 HK) ครอบคลุมหุ้น 30 ตัว ผ่านมาเดือนกว่าๆ มี AUM หรือสินทรัพย์ภายใต้การจัดการประมาณ 105 ล้านบาท หรือเฉลี่ย DR ละ 35 ล้านบาท”นายเจนวิทย์ กล่าว

นายเจนวิทย์ กล่าวว่า การลงทุนใน DR มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้น ทั้งเรื่องของการปรับตัวขึ้นลงของราคา อัตราแลกเปลี่ยน เพราะเป็นการไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ อย่าง HK13 กับ HKTECH13 มีการลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedged) ถ้าค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ก็อาจจะทำให้ขาดทุนได้ ในขณะที่ JAPAN13 มีการ Hedged ค่าเงิน 100% ตัดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินออกไป

“ฉะนั้นนักลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อน แล้วค่อยเข้ามาลงทุน การออก DR 3 หลักทรัพย์นี้ เหมือนเป็นการให้ความรู้กับตลาดไปด้วยว่า เรามีเครื่องมือการลงทุนนี้อยู่นะ เป็นทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศ มีกลไกไม่ซับซ้อนเหมือน DW เพราะ DR มีหุ้นต่างประเทศอ้างอิงหรือหนุนหลังอยู่ ทาง KGI จะส่งต่อผลประโยชน์ให้นักลงทุน เหมือนนักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศเอง”นายเจนวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ HK13 กับ HKTECH13 แม้จะไปลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง แต่ครอบคลุมการลงทุนในบริษัทจีนที่ทำธุรกิจในแผ่นดินใหญ่ โดย HK13 ที่ลงทุนในกองทุนหุ้นที่ลงทุนตามดัชนี Hang Seng (HSI) ซึ่งหุ้นที่อยู่ใน HSI มีหุ้นที่ทำธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 70% ครอบคลุมธุรกิจลงทุน เกมส์ ประกันชีวิต สถาบันการเงิน แพล็ตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ผู้ผลิตโทรศัพท์ เป็นต้น และการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี จะเป็นบริษัทเทคฯที่ผลิตเทคโนโลยี และบริษัทเทคฯที่นำเทคโนโลยีไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือ Consumer Tech เช่น ผู้ผลิตโทรศัพท์ ผู้ผลิตเกมส์ ผู้ผลิตรถยนต์ แพล็ตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ เสิร์ชเอนจิน เป็นต้น

“การไปลงทุนในตลาดจีน เป็นการลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 3 ปี เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหุ้นตกแรง 60% ในทางเทคนิคถือว่าเป็นภาวะหมีแล้ว การจะกลับขึ้นไปก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีเช่นกันหรืออาจจะเร็วหรือช้ากว่าเล็กน้อย การที่หุ้นตกแรงทำให้ Valuation หรือมูลค่าหุ้น ถูกจริงๆ  P/E Forward 2 ปี ลงมาเหลือ 7 เท่า ในขณะที่หุ้นเทคในจีน P/E ลงมาอยู่ที่ 10 เท่า เมื่อเทียบกับแนสแด็ก 100 หรือ Nasdaq 100 มี P/E อยู่ที่ 25 เท่า ประกอบกับเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของ National Team ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลอยู่ในนั้นด้วย เข้ามาซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาดไม่ให้ผันผวนมาก และปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาทางการจีนเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดทำให้หุ้นรีบาวด์”นายเจนวิทย์ กล่าว

ขณะที่ JAPAN13 เป็น DR ไทยตัวแรกที่เข้าไปลงทุนในตลาดญี่ปุ่น รอโอกาสดัชนีนิเกอิทำนิวไฮ ซึ่งเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ดัชนีนิเกอิ มีการทำนิวไฮอีกครั้ง ถือเป็นครั้งที่ 3 ของปีแล้ว และด้วยการที่บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องสูง แม้ราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีร่วม 1,000 แห่ง หรือครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียน แต่บริษัทเหล่านี้กำเงินสดไว้ในมือมาก เพราะมีการฟรีซการลงทุนในช่วงที่เกิดโควิดระบาด ทำให้สถานะบริษัทในญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่ง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นให้บริษัทเหล่านี้ขยายการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ถึงกับมีมาตรการประกาศออกมาให้ทำแผนการลงทุนและเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อต้นปี 2567 บริษัทจดทะเบียนที่มีการประกาศแผนการลงทุนใหม่ออกมาแล้วคิดเป็น 40%

“จะเห็นว่าช่วงโควิด ตลาดหุ้นทั่วโลกลงหมด แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำนิวไฮ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ มีภาวะเงินฝืด แต่หุ้นกลับขึ้น แต่ P/E ก็ขึ้นมาเยอะเหมือนกันอยู่ที่ 18-19 เท่า ซึ่งมีการเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯว่าแพงไปไหม แต่จากการที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เริ่มเข้ามาเก็บหุ้นบริษัทญี่ปุ่นร่วม 20 บริษัทแล้ว ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่ามากซึ่งเราได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน 100% และกองทุนต่างประเทศเริ่มเข้ามาในตลาดหุ้นญี่ปุ่น จากเดิมที่นักลงทุนญี่ปุ่นเทรดเองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เห็น Growth story ของญี่ปุ่น”นายเจนวิทย์ กล่าว