“ก.ล.ต.”เพิ่มเหตุเพิกถอน-ปรับเกณฑ์รับหุ้น IPO ยกระดับคุณภาพตลาดทุนไทย

HoonSmart.com>>ก.ล.ต. เพิ่มเหตุเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนเริ่ม 1 เม.ย.67 ย้ำ ส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่าทุนชำระ หุ้นกู้ผิดนัดชำระ ฟรีโฟลทต่ำ AC ไม่ครบ โดนแน่ คาดต้นเดือนมี.ค.เพิ่มเกณฑ์คุมโปรแกรมเทรดดิ้ง พร้อมส่งหนังสือแจ้งปรับเกณฑ์รับหุ้น IPO ใหม่ถึงบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เตรียมตัวลูกค้าให้พร้อม บังคับใช้ 1 ม.ค.68 หวังสร้างความเข้มแข็งด้านการเงิน ให้บริษัทจดทะเบียน ส่งเสริมบุคลากรในตลาดทุนทำหน้าที่ได้ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพให้ตลาดทุนไทยในระยะยาว

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ และเป็นส่วนหนึ่งใน มาตรการป้องกัน ของ ก.ล.ต. ประกอบด้วย

เพิ่มเหตุเพิกถอนบจ.

การปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนผู้ลงทุน และการเพิกถอนบริษัทที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยจะมีการขึ้นเครื่องหมาย NC เพิ่มเติมในกรณีบริษัทจดทะเบียนขาดทุนสุทธิ 3 ปีติดต่อกันจนส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าทุนที่ชำระแล้ว มีการผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน ตราสารหนี้ จนถึงขั้นศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ชำระบัญชีเลิกกิจการ บริษัทที่จดทะเบียนใน SET มีรายได้จากการดำเนินงานประจำปี น้อยกว่า 100 ล้านบาท และบริษัทที่จดทะเบียนใน mai น้อยกว่า 50 ล้านบาท งบการเงินไม่แสดงความเห็นทุกกรณีติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี คณะกรรมการตรวจสอบ (AC) ไม่ครบ 3 คนเกิน 3 เดือน มีสินทรัพย์ลดลดงในจำนวนที่มีนัยสำคัญ Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์

รวมถึง ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่จะจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trade) มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)
ให้ทำการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้ถือหน่วยสำหรับบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์ และกองทุนต่าง ๆ

“เกณฑ์ข้างต้นจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 เม.ย.2567 นี้ อย่าง Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ณ วันนี้มี 19 บริษัท เราก็หวังว่าบริษัทต่างๆ จะเร่งแก้ไขให้เป็นไปตามเกณฑ์และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ที่ต้องปรับปรุงเกณฑ์เพราะต้องการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับบริษัทจดทะเบียน ทำให้บุคลากรในตลาดทุนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก.ล.ต.ก็พัฒนาตัวเองเช่นกัน โดยเกณฑ์เหล่านี้มีการปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2560″นางพรอนงค์ กล่าว

เพิ่มเกณฑ์คุมโปรแกรมเทรดดิ้ง

นางพรอนงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ประมาณต้นเดือนมี.ค.2567 จะได้ข้อสรุปเรื่องเกณฑ์ควบคุมการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง และการซื้อขายแบบ High Frequency Trading หรือ HFT ออกมาเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกัน ทำให้ตลาดทุนไทยมีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย และสร้างความน่าเชื่อถือในระยะยาว ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะใช้มาตรการใด หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษาของแต่ละฝ่ายมาหารือร่วมกันแล้วกำหนดเกณฑ์ออก

“โปรแกรมเทรดดิ้งไม่ใช่ผู้ร้าย เป็นวิธีส่งคำสั่งซื้อขายที่เป็นมาตรฐานสากล และยอมรับว่าการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันอยู่ในช่วง 30-40% ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับตลาดทุนโลกที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยบางประเทศมีสัดส่วนสูงถึง 70-80% ซึ่งปัจจุบันมีระบบดูแลดีอยู่แล้ว แต่เกณฑ์ใหม่ที่ออกมาจะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น เมื่อหลายมาตรการมารวมกัน จะทำให้การกำกับดูแลดีขึ้น”นางพรอนงค์ กล่าว

ปรับเกณฑ์รับหุ้น IPO

นางพรอนงค์ กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ IPO ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) 6 เรื่องด้วยกัน เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัท ที่จะเข้าจดทะเบียน โดยจะมีการปรับเกณฑ์พิจารณาฐานะการเงินและผลประกอบการ รวมทั้งความมั่นคงของบริษัทในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568

อาทิ บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน SET ต้องมีกำไรติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี โดยปีล่าสุดที่จะ IPO ต้องมีกำไร 75 ล้านบาท จากเดิม 30 ล้านบาท และถ้าจะ IPO ในตลาด mai ต้องมีกำไรติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี โดยปีล่าสุดต้องมีกำไร 25 ล้านบาท จากเดิม 10 ล้านบาท หรือ กรณี Free Float ที่จะเข้า IPO ใน SET และ mai ถ้ามีทุนชำระแล้ว 300 ล้านบาท ต้องมี Free Float 30% จากเดิมไม่กำหนด (ดูตาราง )

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำรายการที่มีนัยสำคัญ (MT) และการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน (RPT) เพื่อกำหนดหน้าที่ให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เพื่อกำหนดให้ต้องยื่นงบการเงินย้อนหลัง 3 ปีล่าสุดที่ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงิน Publicly Accountable Entities (PAE) เริ่มบังคับใช้แล้ว สำหรับบริษัทที่จะขอยื่นเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2567

รวมทั้งการยกระดับการทำหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทจดทะเบียน (Line of defense) เช่น กรรมการ กรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ ผู้บริหารและเลขานุการ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ (Gatekeeper) เช่น ผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงิน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งเดินหน้าส่งเสริมความรู้และความคุ้มครองให้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง