“BAM” ตั้งเป้าปี’67 เก็บหนี้ 2 หมื่นล. คาดกำไรโตก้าวกระโดด

HoonSmart.com >>บริษัทบริหารสินทรัพย์ ตั้งเป้า 3 ปีเติบโตอย่างยั่งยืน วางผลเรียกเก็บหนี้ 23,300 ล้านบาท มั่นใจปี’67 เก็บได้ 20,000 ล้านบาท เตรียมซื้อ NPLs,NPAs เพิ่ม 9,000 ล้านบาท เร่งขยายฐานสินทรัพย์เพิ่มคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท คาดกำไรปีนี้โตก้าวกระโดดเหตุค่าใช้จ่ายประจำลดลง ปรับแผนซื้อสินทรัพย์ เน้นขายง่าย กำไรพอเหมาะ เร่งลูกค้าแก้หนี้ให้เร็วก่อนถูกดอกเบี้ยกินจนทรัพย์สูญ หนุนนโยบายแก้หนี้อย่างยั่งยืนมีความรับผิดชอบ

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า แผน 3 ปี คือ ปี 2567 – 2569 ตั้งเป้าสร้างผลเรียกเก็บ หรือ เก็บหนี้ให้ได้ 23,300 ล้านบาท ลงทุนซื้อทรัพย์สินเพิ่มคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท

สำหรับ ปี 2567 ตั้งเป้าผลเรียกเก็บอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ที่ผ่านมายังเปิดเผยไม่ได้เนื่องจากอยู่ในช่วง Silent Period ที่เตรียมแจ้งผลการดำเนินงาน (ผลเรียกเก็บ 9 เดือนแรกปี 2566 รวม 11,229 ล้านบาท) สำหรับกำไรในปีนี้ คาดว่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เพราะถ้าผลเรียกเก็บ หรือ ถ้าเก็บหนี้ได้เกิน 12,000 ล้านบาทขึ้นไป กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำในการดำเนินงานในช่วงแรกๆ ถูกคิดไปแล้ว พอผ่าน 12,000 ล้านบาท จะไม่มีต้นทุนตรงนั้น จะทำให้กำไรก้าวกระโดด

ส่วนการซื้อทรัพย์ปีนี้วางไว้ 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเลือกทรัพย์มากขึ้น เน้นทรัพย์ที่สามารถขายออกได้ง่าย และใช้เวลาในการปรับปรุงทรัพย์เร็ว ใช้กำลังคนน้อย ราคาพอเหมาะ เพื่อจะได้ไม่แบกต้นทุนมากและนานเกินไป อย่างไรก็ตาม หากมีสินทรัพย์ที่ดี ราคาที่เหมาะสม และต้องการที่จะซื้อเพิ่มขึ้น ก็สามารถขออนุมัติจากบอร์ดได้

“ปีนี้คาดว่าแบงก์ทั้งระบบมีหนี้ที่ยังไม่จัดชั้นที่ต้องการขายทั้ง NPLs,NPAs ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งปีนี้แต่ละแบงก์มองตลาดต่างกัน บางแบงก์จะขายทุกเดือน บางแบงก์จะขายเป็นช่วงๆ บางแบงก์บอกจะชะลอการขาย เพราะราคาตกลงมาก และบางแบงก์อาจจะขายทรัพย์ออกมาให้เรา แล้วให้การสนับสนุนนสินเชื่อ พอลูกค้าเริ่มประวัติดี ชำระหนี้สม่ำเสมอก็อยากเอากลับไปดูแลเองก็มี “นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า ปัจจุบัน มี NPLs อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท  และมี NPAs อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 154,187 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 51,420 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 121,378 ล้านบาท

“เป้าหมายผลเรียกเก็บ 20,000 ล้านบาทปีนี้ถือว่าท้าทายมาก เพราะเศรษฐกิจโตแบบเนือยๆ ประหลาดๆ ต้นทุนการเงินก็ยังสูงในช่วงครึ่งปีแรก แต่เราจะหาทางทำให้ได้ ด้วยการอาศัยศักยภาพพนักงานที่มีอยู่ และเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยในการหาลูกหนี้ให้พบเร็วที่สุด เพื่อช่วย หรือ เจรจาหนี้ ประนอมหนี้ให้เร็ว จะทำให้การบริหาร NPL ทำได้ดีขึ้น”นายบัณฑิต กล่าว

นายบัญฑิต กล่าวว่า ปีนี้จะใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ ประกอบด้วย การขยายธุรกิจ (Business Expansion) โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ที่มีอยู่ 200,000 ล้านบาท ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง ที่จะอาศัยศักยภาพของบุคลากรภายใน กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ทำการติดต่อกับทางธนาคารเกิน 12 เดือนขึ้นไป เพื่อให้เกิดการแก้หนี้ และประนอมหนี้ให้เร็วที่สุด ช่วยให้ลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินในการทำมาหากิน มีบ้านไว้อยู่อาศัย และมีมรดกไว้ให้ลูกหลาน เพราะถ้าปล่อยไว้นาน ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและสุดท้ายจะไม่มีอะไรเหลือเลย ฉะนั้นปีนี้จะยื่นฟ้องเร็วขึ้น จากเดิมที่ใจดีไม่ฟ้องร้อง

รวมทั้งการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้น BAM จะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งได้ตั้งหน่วยงาน Business Development ขึ้นมาดูแลโครงการดังกล่าว โดยปีนี้จะมีการหาพันธมิตรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และจัดกิจกรรมทางการตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ขณะที่การดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business)  วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงินในสัดส่วน 50:50 เพื่อไม่ให้เกิดอำนาจการควบคุมจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยพาร์ทเนอร์จะเป็นผู้ขายทรัพย์สิน ส่วน BAM จะเป็นผู้พัฒนาปรับปรุงทรัพย์สิน โดยจะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ต้องอยู่ได้ทั้ง BAM และบริษัทร่วมทุน และได้ช่วยชาติเรื่องการช่วยแก้หนี้ให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลที่พุ่งเป้าช่วยแก้หนี้ให้คนตัวเล็ก และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการลดหนี้สาธารณะลงจาก 90% ให้เหลือ 70% ตามนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืน

ด้าน การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบด้านการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานสำรวจและประเมิน ที่มีไลเซ่นผู้ประเมิน 28 รายแล้ว ถือเป็นงานที่มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาให้เติบโตขึ้นได้ ซึ่งได้จัดอยู่ในแซนด์บ็อกซ์ โดยจะมีการทดลองและติดตามผลใน 3 ปี หากสามารถทำได้ดี อาจจะมีการตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา และไปทำการแข่งขันในตลาด

การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสมและยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA เพื่อช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ BAM ยังได้เตรียมความพร้อมในการสร้างบุคลากรด้วยการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับอนาคต Capability Development ด้วยการจัดทำแผนพัฒนา Successor & Talent และพัฒนา Core Capability อย่างไรก็ตาม BAM ยังตระหนักถึงการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่ง BAM ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน “SET ESG Ratings” 2 ปีซ้อน และมีผลการประเมินที่ระดับ “AA” สะท้อนให้เห็นว่า BAM ได้ยกระดับการดำเนินงานและการจัดทำรายงานความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG รวมทั้ง BAM ยังมีการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งพร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับ ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล

นายพงศธร มณีพิมพ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายพัฒนาสินทรัพย์ภูมิภาค บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า บริษัทมีสำนักงานสาขาครอบคลุม 7 ภาคทั่วประเทศ จำนวนพนักงานที่ดูแลภูมิภาค 400 คน จากเป้าหมายผลการเรียกเก็บ 20,000 ล้านบาท จะมาจากภูมิภาค 10,000 ล้านบาท โดยเน้นใช้พนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นตามนโยบาย ESG ของบริษัท ทำให้มีความเข้าใจสภาวะตลาดในพื้นที่นั้นๆ และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

“การมีธุรกิจที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้มีแหล่งรายได้หลากหลาย ที่จะเข้ามาชดเชยพื้นที่ที่ไม่ดีได้ เช่น หลังโควิดสินทรัพย์ที่ภูเก็ตทำรายได้เพิ่มขึ้นถึง 200% และเชียงใหม่เริ่มมีความคึกคักขึ้นแล้ว ในขณะที่บางพื้นที่ยังไม่ฟื้น และเราสามารถย้ายพนักงานจากพื้นที่ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ไปเสริมพื้นที่ที่ตลาดเริ่มมาคึกคักได้ ทำให้สำนักงานสาขาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของ BAM ให้ประสบความสำเร็จ ช่วยให้สามารถติดตามและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายพงศธร กล่าว

ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายสารสนเทศและดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบัน BAM ได้เร่งสร้างระบบการให้บริการลูกค้าบน Online Platform โดยมีระบบการชำระเงิน และ E-TDR (การปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์) ด้วยการจัดทำ BAM Mobile Application ระบบจองทรัพย์/ชำระเงิน และระบบตรวจสอบภาระหนี้/ชำระหนี้ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลสำคัญขององค์กรและรายงานต่างๆ จากแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) และเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกันยังได้นำระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของ BAM ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสในการปิดการขาย หรือโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น พร้อมกับเตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป