ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 601 จุด ดัชนี PCE สอดคล้องกับคาดการณ์

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดบวก ดาวโจนส์พุ่ง 601 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน เงินเฟ้อเดือนม.ค.เพิ่มขึ้นตามตลาดคาด ขณะที่นักลงทุนมองข้ามการหารือสงครามรัสเซียระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์-ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ไม่ประสบความสำเร็จ ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ” ลดลง ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดบวก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 28กุมภาพันธ์ 2568 ปิดที่ 43,840.91 จุด เพิ่มขึ้น 601.41 จุด หรือ +1.39% ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน นักลงทุนมองข้ามการหารือเกี่ยวกับสงครามรัสเซียระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ กับและประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ไม่ประสบความสำเร็จ แม้เพิ่มความกังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,954.50 จุด เพิ่มขึ้น 92.93 จุด, +1.59%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,847.28 จุด เพิ่มขึ้น 302.86 จุด, +1.63%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้นเกือบ 1% ดัชนี S&P500 ลดลงราว 1% และดัชนี Nasdaq ลดลง 3.5% และทั้งเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 1.6% ดัชนี S&P500 ลดลง 1.4% และดัชนี Nasdaq ลดลงประมาณ 4% ซึ่งเป็นการลดลงรายเดือนหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2024

ดัชนีหลักๆ กลับมาเป็นลบในช่วงเวลาสั้นๆ ในวันศุกร์ หลังจากที่ทรัมป์ พร้อมด้วยรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ปะทะคารมอย่างดุเดือดกับเซเลนสกีในการหารือรอบพิเศษต่อหน้าสื่อที่ทำเนียบขาว ผู้นำทั้งสองพบกันเมื่อวันศุกร์เกี่ยวกับข้อตกลงสิทธิแร่ในยูเครนสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนหวังว่าจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การยุติสงครามกับรัสเซียในที่สุด

โรเบิร์ต คอนโซ ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการของ The Wealth Alliance กล่าวว่า ปะทะกันทางวาจาทำให้นักลงทุนซึ่งกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบของภาษีศุลกากรของทรัมป์และทิศทางของอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว ยิ่งมีความกังวลมากขึ้น

ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เพิ่มขึ้นมาที่ 22.40 สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม อย่างไรก็ตามตลาดฟื้นตัวและกลับมาปิดในแดนบวกได้ในท้ายตลาด จากการปรับขึ้นกลุ่มการเงินที่เพิ่มขึ้น 2.1% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 1.8%

หุ้น Nvidia และหุ้น Tesla ต่างเพิ่มขึ้นราว 4%

ในช่วงแรกของการซื้อขาย กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนมกราคมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองปี ซึ่งอาจทำให้การพิจารณานโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐมีความซับซ้อนขึ้น

ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด จาก 2.6% ในเดือนธันวาคม และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด จาก 0.3% ในเดือนธันวาคม

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด จาก 2.9% ในเดือนธันวาคม และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด จาก 0.2% ในเดือนธันวาคม

การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง 0.2% สวนทางกับการเพิ่มขึ้น 0.1% ที่นักวิเคราะห์คาด จากที่เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนธันวาคม

เจฟฟรีย์ โรช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LPL Financial กล่าวว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงและการเติบโตของรายได้ที่ช้าลงน่าจะดึงความสนใจของเฟด แม้อัตราเงินเฟ้อเทียบรายปีปีจะชะลอตัวลง แต่เทียบรายเดือนยังคงร้อนแรงกว่าที่เฟดต้องการ

แม้คลายกังวลกับตัวเลข PCE แต่นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าอย่างรวดเร็วของทรัมป์ ยังกังวลกับความตึงเครียดครั้งใหม่ หลังจากที่จีนให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ด้วย

“มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด” หลังจากทรัมป์กล่าวว่าจะเก็บภาษีนำเข้าจากชจีนเพิ่มอีก 10% ในวันอังคารนี้ รวมทั้งเดินหน้าเก็บภาษีเม็กซิโกและแคนาดา และกับสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ประมาณการการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงของเฟดสาขาแอตแลนตาเฟดแสดงให้เห็นว่าไตรมาสแรกติดลบ 1.5% ซึ่ง ลดลงอย่างมากจากประมาณการครั้งแรกและเป็นสัญญาณเตือนล่าสุดของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางสงครามภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์

สำหรับความเคลื่อนไหวหุ้นรายตัวนั้น หุ้น Dell ลดลงกว่า 4.5% บริษัทคาดการณ์ว่าอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับปรุงแล้วจะลดลงในปีบัญชี 2026

หุ้น HP ลดลง 6.8% หลังจากคาดการณ์กำไรไตรมาสล่าสุดต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้

ตลาดยุโรปปิดบวก และปรับขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สิบติดต่อกัน แม้จะมีความไม่แน่นอนจากการขู่เรื่องภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ดัชนี Stoxx 600 ฟื้นจากที่ร่วงลงก่อนหน้านี้และปิดบวกเล็กน้อย แต่ดัชนีกลุ่มเทคโนโลยีลดลงมากสุด โดยลดลง 1.5% จากผลกระทบจากการเทขายบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตชิปอย่าง

Nvidia เมื่อวันพฤหัสบดี ขณะที่หุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงประเมินรายงานผลประกอบการรายไตรมาส

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 557.19 จุด เพิ่มขึ้น 0.08 จุด, +0.01%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,809.74 จุด เพิ่มขึ้น 53.53 จุด, +0.61%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,111.63 จุด เพิ่มขึ้น 9.11 จุด, +0.11%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 22,551.43 จุด เพิ่มขึ้น 0.54 จุด, +0.002%

หุ้นบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์เนเธอร์แลนดทั้ง BE Semiconductor ลดลง 1.7% ขณะที่ ASM International และ ASML ต่างลดลงกว่า 2%

หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ลดลง 0.7% ตามราคาทองคำและทองแดงที่ลดลง ด้วยแรงกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและแผนการเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์

การยืนยันของทรัมป์ที่จะเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% จากสินค้านำเข้าจีนดึงความสนใจไปที่หุ้นกลุ่มสินค้าหรู แต่หุ้น LVMH หุ้นChristian Dior และหุ้นKering ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดของวัน

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่แสดงถึงการชะลอตัวของอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สนับสนุนความหวังว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วยหนุนความเชื่อมั่น

ผลประกอบการของบริษัทที่สดใส มุมมองในทางบวกเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน และการเพิ่มขึ้นของหุ้นด้านกลาโหมของเยอรมนี ท่ามกลางความหวังว่าการใช้จ่ายด้านกลาโหมที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ ได้หนุนตลาดเมื่อต้นสัปดาห์นี้

แต่ความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้ตลาดหุ้นยุโรปต้องเผชิญกับความผันผวนในครึ่งหลังของสัปดาห์

ทรัมป์ประกาศในวันพุธที่จะเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์และสินค้าประเภทอื่น ๆ จากสหภาพยุโรป (EU)

เมื่อวันศุกร์ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในยูโรโซนดีขึ้น แต่การเติบโตยังคงไม่สดใส ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกโดยคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายนลดลง 59 เซนต์ หรือ 0.84% ปิดที่ 69.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 86 เซนต์ หรือ 1.16% ปิดที่ 73.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล