เงินเฟ้อม.ค. -1.11% หดตัวต่อ คาด Q1ติดลบ 0.7% หนุนธปท.ลดดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>พาณิชย์แถลงเงินเฟ้อเดือนม.ค. -1.11% หดตัวเป็นเดือนที่ 4 มากกว่าตลาดคาดที่-0.79 ถึง -0.9% ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน คาดไตรมาสแรก -0.7% จากรัฐช่วยลดค่าครองชีพ  ยันยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ไทยติดอันดับเงินเฟ้อต่ำที่ 3 จาก 139 ประเทศและยังคงต่ำที่สุดในอาเซียน คาดทั้งปี -0.3 ถึง 1.7% บล.กรุงศรี พัฒนสินชี้เงินเฟ้อต่ำหนุนธปท.ลดดอกเบี้ย บวกต่อหุ้นไฟฟ้าแนะ GPSC(TP@65.0 ) สินเชื่อบุคคล MTC (TP@48.0) กลุ่มที่อิงการบริโภค CPALL (TP@76.0 ) 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนม.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 106.98 ลดลง 1.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวมากกว่าตลาดคาดที่ -0.79 ถึง -0.9% โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 35 เดือน

สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงลดลงต่อเนื่อง มาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมัน และค่าไฟฟ้า จากผลของมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสินค้าอาหารสดมีราคาลดลง

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 0.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สนค.คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปีนี้จะยังลดลงราว -0.7% เนื่องจากรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดค่าครองชีพ และยืนยันว่ายังไม่เข้าภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี หากภาครัฐทยอยยกเลิกมาตรการดังกล่าวลง ก็มีโอกาสจะเห็นเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าว ว่า ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.2566 รวม 160 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ผักบุ้ง, มะม่วง, แตงกวา, โฟมล้างหน้า, ค่าไฟฟ้า, น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น  ขณะที่ราคาสินค้าและบริการ ลดลง รวม 97 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเหนียว, ปลาทู, ไข่ไก่, ผักชี, หัวหอมแดง, ส้มเขียวหวาน, ผงซักฟอก เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง รวม 173 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ค่าโดยสารแท็กซี่, ค่าบริการที่จอดรถ, ค่าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

“อัตราเงินเฟ้อของไทย ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ อยู่อันดับที่ 3 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย)  คาดทั้งปีเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ในช่วง -0.3 ถึง 1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7% จากสมมติฐานสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยที่ 34-36 บาท/ดอลลาร์”นายพูนพงษ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ.จะยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจาก 1. มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ไม่เกิน 3.99 บาท/หน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 19 เม.ย.2567

2.ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

“คาดว่าเงินเฟ้อเดือนก.พ. และ มี.ค.ยังติดลบต่อเนื่อง  ทำให้ไตรมาสแรกจะยังติดลบแน่ๆ  ประมาณ -0.7% ถ้าสินค้าเกษตรยังอยู่ราคาระดับนี้ และภาครัฐยังมีมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และน้ำมัน ซึ่งมีน้ำหนักถึง 10% ในการคำนวณเงินเฟ้อ  แต่ยืนยันว่ายังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะราคาสินค้ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง   และการลดลง ก็ไม่ใช่มาจากตัวของเงินเฟ้อเอง แต่มาจากมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งเป็นตัวหลักของต้นทุนสินค้า ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหารสดออก ก็ยังไม่ได้ติดลบ หากไตรมาส 2 มาตรการต่างๆ ทยอยยกเลิก ก็มีโอกาสจะเห็นเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้” ผู้อำนวยการ สนค. กล่าว

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่
1. สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญสูงขึ้น
2. เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น
3. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งมาจากความต้องการ และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
4. การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น

ด้านบล.กรุงศรี พัฒนสิน วิเคราะห์เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน เดือนที่ 4  หนุนโอกาสการลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567  (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%) มองมี Downside  มองเป็นภาพบวกต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าเน้น GPSC(TP@65.0 ) และกลุ่ม Consumer Finance เน้น MTC (TP@48.0) กลุ่มที่อิงการบริโภค CPALL (TP@76.0 )