SETพุ่งแรง 2% มากสุดในรอบปี’68 เซอร์ไพร์สลดดอกเบี้ย 0.25% งัดศก.

HoonSmart.com>> เซอร์ไพร์ส!! กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ลดดอกเบี้ย 0.25%เหลือ 2.00% พยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ต่ำเป้า ดันหุ้นพุ่งฉิ่ว 24.75 จุด ขึ้นมากที่สุดในรอบปี 68  เน้นเช่าซื้อ-ไฟฟ้า-อสังหาฯ-บริษัทที่มีหนี้สูง  ส่วนแบงก์-ประกันถูกทิ้ง ด้านเงินบาทแข็งปิด 33.72 บาท บล.หยวนต้าฯคาดดอกเบี้ยลงหนุนกำไรบจ.เพิ่ม 1% บล.ฟินันเซียฯชี้ Bond Yield 10 ปีลง ทุกๆการลด 0.10% ดันดัชนีบวก 20 จุด บล.เอเซียพลัสระบุหนุน Market Earning Yield Gap สูงถึง 5.75% เอื้อ SET บวก 51 จุด

วันที่  26  ก.พ. 2568 ตลาดหุ้นไทยกระชากขึ้นแรงในช่วงบ่าย รับข่าวคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เซอร์ไพร์สตลาด ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.00% ต่อปี  มีแรงไล่ซื้อหุ้นจนดัชนีปิดที่ระดับ 1,231.14 จุด เพิ่มขึ้น 24.75 จุด หรือ +2.05% มูลค่าซื้อขาย 62,528.51 ล้านบาท ระหว่างวันลงไปต่ำสุด 1,208.91 จุด ฝีมือนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,063.15 ล้านบาท  ขณะที่ตลาดหุ้นในเอเชียมีทั้งบวกและลบ นำโดยตลาดฮ่องกงพุ่งแรง +3.27% เซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้น 1.02 จุด

ด้านเงินบาทปิดที่  33.72 บาทต่อดอลาร์ ระหว่างวันผันผวนหนัก อ่อนค่าช่วงสั้นหลังกนง.ลดดอกเบี้ย ก่อนทยอยแข็งค่าปลายตลาด  ส่วน Bond Yield  10 ปี ของไทยลดลงจาก 2.25% เหลือ 2.16%

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 26 ก.พ. 2568 ว่ามีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สาเหตุที่กรรมการกนง.ส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว   ดังนั้นจึงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ย เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่กรรมการ 1 คน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากให้น้ำหนักมากกว่ากับการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการระบายสินค้าคงคลังที่สูง แม้อุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าขยายตัวดี มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้านำเข้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง

ขณะที่ภาคบริการยังขยายตัวได้ ด้านอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้จากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีและเกษตรแปรรูปเป็นหลัก

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามภาคการผลิตที่อาจถูกกดดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะ SMEs ที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การแข่งขันด้านราคาที่สูงจากสินค้านำเข้า โดยอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับดังกล่าวไม่ได้มีสัญญาณนำไปสู่ภาวะเงินฝืดหรือภาวะที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง และยังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและต้นทุนของผู้ประกอบการ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังทรงตัวในกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านต่ำจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกและการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ

ภาวะการเงินยังตึงตัว แม้การขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณทรงตัวบ้าง แต่สินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างยังหดตัวต่อเนื่อง ด้านการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ช่วยลดความตึงตัวของภาวะการเงินโดยไม่กระทบต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว แต่เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวและคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มเปราะบาง รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนของนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ประเมินในครั้งนี้ และสามารถรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม โดยเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับลดลงเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในการยกระดับศักยภาพอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ พัฒนาการของภาคการผลิต, ผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มการขยายตัวและคุณภาพสินเชื่อ รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองกนง. ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เหนือความคาดหมายของตลาด จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มากกว่าคาด และสินเชื่อที่ขยายตัวช้าโดยเฉพาะ SMEs ที่เผชิญปัญหาการแข่งขันเชิงโครงสร้าง

“เราประเมินการปรับลดดอกเบี้ยของกนง. ยังเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในช่วงที่มีการประชุม ภาพระยะสั้น เป็นปัจจัยบวกต่อ SET INDEX ผ่านต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลง (-0.25% เป็นบวกต่อกำไรต่อหุ้นราว 1%) และเป็นบวกเชิง Sentiment ต่อ Yield Play เช่น BAM, SAWAD, TIDLOR, SCAP, THANI, AP, SPALI, 3BBIF, CPNREIT เป็นต้น”บล.หยวนต้า ระบุ

บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองกนง.ลดดอกเบี้ยเป็นบวกต่อ Sentiment โดยรวมของดัชนีหุ้นโดยเฉพาะกลุ่ม ไฟแนนซ์ อสังหาฯ โรงไฟฟ้า และเป็นลบต่อกลุ่มธนาคาร ประกัน

ด้าน Bond Yield 10 ปีของไทยขยับลงจาก 2.25% เหลือ 2.16% หลังจากกนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 2% โดยประเมินทุกๆ 0.10% ของ Bond Yield ที่ลดลงจะเป็นบวกต่อดัชนีราว 20 จุด (ทุก 25 bps ของ Bond Yield ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงจะเทียบกับ PER ราว 0.5 เท่า ซึ่งหากอ้างอิง EPS ระดับราว 90 บาท จะคิดเป็นดัชนีราว 45 จุด)

บล.เอเซีย พลัส มองการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% จะหนุนระดับ Market Earning Yield Gap ได้สูงถึง 5.75% คาดว่า SET Index จะปรับตัวขึ้นมาราว 51 จุด

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ MTC SAWAD TIDLOR, กลุ่มปันผลสูง AP SPALI SIRI SC PTT TISCO CPN INTUCH, กลุ่มหุ้น Net Debt CPALL MINT

นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นวันนี้ปรับตัวขึ้น ผ่อนคลายยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องการอั้วเลือกสว. แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงเสถียรภาพรัฐบาลอยู่ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาสู่ระดับ 2% สร้าง่ Surprise ให้กับตลาดด้วย

ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเคลื่อนไหวในแดนบวกเล็กน้อย ยกเว้นฮั่งเส็งที่ปรับขึนมาก ส่วนตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้บวกได้เป็นส่วนใหญ่ พร้อมให้ติดตามเสถียรภาพของรัฐบาล ระหว่างพรรคภูมิใจไทย และเพื่อไทย จะหาข้อสรุปคุยกันได้ไหม ส่วนนอกประเทศให้ติดตามตัวเลข PCE ของสหรัฐที่จะออกมาในวันศุกร์นี้ (28 ก.พ.) ซึ่งตลาดคาดว่าจะชะลอตัวลง

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (27 ก.พ.) ตลาดยังมีโอกาสรีบาวด์ได้หลังจากที่ร่วงแรง แต่ก็ต้องระวังเรื่องความยั่งยืนของราคาอยู่ พร้อมให้แนวรับ 1,205-1,200 จุด แนวต้าน 1,236-1,240 ถัดไป 1,250 จุด