ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
หุ้นเทคจีนกำลังจะเป็นขาขึ้นครั้งใหญ่ คล้ายกับฟองสบู่ ARK ในปี 2020?
คลิปวีดีโอรายการ Business tomorrow 19 ก.พ. 2025
https://www.youtube.com/live/t47PEDzBEjg?si=2l154LCqq0-8PvrB
ธีมลงทุน AI ในสหรัฐ นับตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นต้นมา “หุ้นผู้ผลิตชิป” เป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นนำหน้าตลาด เหตุผลส่วนหนึ่งเราเชื่อว่า “ภาวะดอกเบี้ยสูง” กระตุ้นให้นักลงทุนโถมเข้าใส่ธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และกระแสเงินสดมหาศาลใน “ระยะใกล้” 1-2 ปี ตามหลักมูลค่าของเงินตามเวลา (time value of money) อันเป็นพื้นฐานของสมการ Discounted Cash Flow: DCF ซึ่งใช้ประเมินมูลค่าหุ้น
…แต่ธีม AI จีนรอบนี้อาจแตกต่าง…
China’s Ark Moment “เปิดตำราป้าล่าอภิมหากระทิง” ดอกเบี้ยจีนต่ำ (อาจต่ำลงอีก) น่าจะกระตุ้นให้นักลงทุน “ฝันได้ไกล” (ตามหลัก time value of money) โดยอยากลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงๆในอีกหลายปีข้างหน้า (แม้ปัจจุบันยังไม่สร้างกำไรหรือแม้แต่ประสบผลขาดทุนอยู่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ นักลงทุน “รอได้” เพราะดอกเบี้ยต่ำ) บรรยากาศคล้ายสมัยโควิดปี 2020 ซึ่งก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่หุ้นนวัตกรรม (Innovation Bubble) นำโดยกองทุนชื่อดังๆ เช่นค่าย Ark Invest ของ Cathie Wood
ประธานาธิบดีสีกล่าวสุนทรพจน์ หลังจากรับฟังตัวแทนบริษัทเอกชนกล่าวในการประชุมสัมมนา 17 ก.พ. ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง โดยผู้นำภาคธุรกิจที่เข้าร่วม เช่น นายเริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย เทคโนโลยี, นายเหลย จวิน ผู้ร่วมก่อตั้งเสียวหมี่, นายหวัง ฉวนฝู ผู้ก่อตั้งบีวายดี, นายหวัง ซิงซิง ผู้ก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์ยูนิทรี, นายโรบิน เจิง ผู้ก่อตั้งบริษัทแบตเตอรี่ซีเอทีแอล (CATL) ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสีต้องการส่งเสริมบรรยากาศให้ภาคเอกชนมุ่งขยายธุรกิจ ขณะที่การแข่งขัน จีน-สหรัฐ ทวีความเข้มข้น
เงินเฟ้อผู้ผลิต PPI สหรัฐ มีองค์ประกอบด้าน financial และ healthcare ชะลอลงในเดือน ม.ค. ตลาดจึงคาดว่า “เงินเฟ้อตัวเป้า” Core PCE ซึ่งมีกำหนดรายงาน 28 ก.พ. น่าจะชะลอลงด้วย
แนวโน้ม “เงินเฟ้อสหรัฐ” น่าจะส่งผลกระทบ “ตลาดหุ้นจีน” ดังนี้ (ในมุมมองของเรา)
กรณีที่ 1) เงินเฟ้อสหรัฐ “ดื้อ” ไม่ยอมลง ทรัมป์เดินเกมสงครามการค้าลำบาก ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงๆไม่ค่อยสะดวก (เพราะยิ่งซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐ) เป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจจีน นักลงทุนทั่วโลกเห็น “ทางสะดวก” ก็น่าจะยังคงลงทุนธีม Chinese AI เน้นการเข้าซื้อหุ้นบิ๊กเทคจีนในตลาด offshore (H-shares ในฮ่องกง และ ADRs ในสหรัฐ) กันต่อไป KT-CHINA ตอบโจทย์การลงทุนเคสนี้มากที่สุด
กรณีที่ 2) เงินเฟ้อสหรัฐ “ชะลอลง” เฟดลดดอกเบี้ยง่าย ดอลลาร์หยุดแข็งค่า (หรืออาจกลับทิศอ่อนค่า) ส่งผลให้แบงก์ชาติจีน (PBOC) กล้าลดดอกเบี้ยและลดอัตรากันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ตามที่เคยสัญญาไว้ น่าจะเป็นปัจจัยจุดพลุตลาดหุ้นจีน A-shares ให้เข้าสู่ภาวะกระทิงอย่างเต็มตัว (ตามหลังตลาด offshore ซึ่งขึ้นนำไปก่อนด้วยธีม AI)
ตลาดตอบสนองตัวเลข PPI สหรัฐ โดยคาดว่า Core PCE จะชะลอ เริ่มเข้าข่ายกรณีที่ 2 (เฟดลดดอกเบี้ยง่าย) เราจึงเห็นจังหวะเข้าซื้อสะสมกองทุนหุ้นจีนในตลาด onshore ซึ่งยังคงล้าหลัง (laggard) ได้แก่ KT-Ashares มุ่งเก็งโอกาสที่ PBOC อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ย และ/หรือ ลด RRR ในไม่ช้า
*** อัพเดตความเห็นล่าสุดของเราได้ทุกเช้าที่รายการ Fund Today by KTAM ***
ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:55 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook รวมถึงคลิปสั้นทาง TikTok และ Instagram
#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์855
คำเตือน:
- ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- ทุกความคิดเห็นเป็นมุมมองส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ house view ของ บลจ. ธนาคาร หรือองค์กรใดๆทั้งสิ้น
- พอร์ต Belief Allocation, Today Strategy และ Fund To-Do สอดคล้องกับมุมมองส่วนตัวตามสไตล์ “สุดโต่ง-ไร้ขีดจำกัด” จึงมีความเสี่ยงสูงและแตกต่างจาก asset allocation ทั่วๆไปเป็นอย่างมาก
- ผู้ที่ต้องการทำ asset allocation ในรูปแบบปกติ ควรพิจารณากองทุน Krungthai World Class Series หรือกองทุน มั่ง | มี | ศรี | สุข