โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดดราม่าเรื่องประกันสังคม โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนอยากได้กันมาก หลายคนถึงกลับต่อมาตรา 39 ยอมเสียเวลาที่จะได้รับบำนาญชราภาพ เพราะอยากได้สวัสดิการนี้ เทียบกับสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ได้มาฟรีๆ คือ บัตรทอง (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
วันนี้เลยจะมาเทียบให้ดูและพิจารณากันเองเลยนะว่า บัตรทอง กับ ประกันสังคม อะไรดีกว่ากัน
• ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน เพียงลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำตัวแล้วใช้สิทธิได้ทันทีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว
• ใช้กับสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือเจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ผู้ป่วยที่อยู่ในจังหวัดที่สามารถใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ได้แล้ว
สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทั้งในสถานพยาบาลในจังหวัดและข้ามจังหวัด โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว แต่ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว เพื่อความสะดวกและลดการแออัดในโรงพยาบาลใหญ่
และยังสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ได้ที่ ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
ทั้งนี้ สามารถสังเกต “โลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อเข้ารับบริการได้ โดยหน่วยบริการที่มีโลโก้ดังกล่าวคือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิที่เข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประจำอำเภอ, และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ประจำจังหวัด ขณะที่ใน กทม. หน่วยบริการระดับปฐมภูมิจะเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุข
• เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต (สีแดง) เข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่)
• มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่สถานพยาบาลใด ก็เข้ารับบริการตามรายการนี้ได้
o เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยาที่ร้านยากว่า 1,700 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
o เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 กลุ่มอาการ รับบริการที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า 1,000 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
o เจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มอาการ พบหมอออนไลน์ รอรับยาจัดส่งถึงบ้านได้ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร
• การย้ายหรือเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวทำได้ 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ ใช้สิทธิได้ทันทีเมื่อเปลี่ยนแล้ว
• สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น
• ครอบคลุมค่าอาหารและค่าห้องสามัญเมื่อต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล
• ได้เพียงสิทธิรักษาฟรี (บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข) ไม่มีเงินชดเชยว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต เหมือนประกันสังคม
หมายเหตุ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ใช้สิทธิ ‘บัตรทองหรือบัตร 30 บาท’ รักษาพยาบาล หรือหากได้รับสิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ก็ยังคงได้รับสิทธิได้ตามปกติ (มาตรา 40 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ให้เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพ รวมถึงได้รับเงินค่าทำศพ กรณีตาย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด)
ประกันสังคม (ผู้ประกันตน)
• ประกันสังคม ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขจึงจะสามารถใช้สิทธิได้
• ใช้กับโรงพยาบาลที่เลือกสิทธิไว้ (อาจเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ได้) กรณีฉุกเฉินเข้าที่ไหนก่อนก็ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
• เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกกฤติเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่)
• ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีวงเงิน และไม่เสียค่าใช้จ่ายครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น
• การย้ายสถานพยาบาลประจำตัวย้ายได้ปีละ 1 ครั้ง
• ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ไม่เกิน 900 บาท/ปี
• ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกิน 700 บาท/วัน
• ได้รับเงินชดเชย กรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต
จากการพิจารณาแล้ว ถ้าอยากเข้าโรงพยาบาลเอกชน ประกันสังคมจะตอบโจทย์มากกว่า และหากต้องการสวัสดิการที่ครอบคลุม บัตรทองจะดีกว่า แต่ข้อเสียบัตรทอง คือ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งหลายคนกังวลเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาลและเวลาที่ต้องเสียไปในการรอรับการรักษา แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ได้ช่วยบรรเทาความกังวลเหล่านี้ไปได้มาก
แต่หากเทียบต้นทุน ผลประโยชน์ (cost benefit) ที่ได้รับแล้ว บัตรทองจะคุ้มกว่า เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย เทียบกับการรับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคม นอกจากต้องเสียเงินสมทบ (1.5% ในมาตรา 33 หรือ 3% ในมาตรา 39) แล้ว ผู้ประกันตนยังเสียเงินบำนาญชราภาพที่ควรได้ในแต่ละเดือน (กรณีอายุเกิน 55 ปี และเป็นสมาชิกมาเกิน 180 เดือน) ไปอีก ดังนั้น สำหรับผมเอง ผมเลือกรับบำนาญชราภาพ และใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลจากบัตรทอง
ข้อกังวล จากปัญหาสังคมคนสูงอายุ และอายุขัยที่ยาวมากขึ้น ทำให้ประกันสังคมมีภาระต้องจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนมากขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดน้อยลง และวัฒนธรรมการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนเริ่มน้อยลง ทำให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมลดน้อยลงไปด้วย หากมีผู้เลือกรับบำนาญชราภาพมากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของประกันสังคมได้