ศูนย์วิจัยกสิกรมองอิเล็กทรอนิส์ได้อานิสงส์สงครามการค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้สงครามการค้าเร่งการกระจายการลงทุนออกจากจีน มองไทยได้อานิสงส์จำกัดบางอุตสาหกรรมอย่าง อิเล็กทรอนิกส์ และอาจได้รับผลบวกทางอ้อมต่อเม็ดพลาสติกหรือสิ่งทอ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการกระจายการลงทุนจากจีนไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี อานิสงส์ทางตรงจะเกิดขึ้นต่อไทยในระดับที่จำกัด เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในฐานะผู้รับการลงทุนที่ใช้แรงงานเข้มข้นอยู่แล้ว ขณะที่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น สินค้าหลายประเภทจีนยังคงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันทางด้านราคาจนยากที่จะเกิดการเบี่ยงเบนการลงทุน

นอกจากนี้ไทยอาจได้อานิสงส์เฉพาะการลงทุนในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนในผลิตภัณฑ์ที่ไทยนับได้ว่ามีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้างสูงในเวทีโลก ซึ่งคาดว่ากระจุกอยู่ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่าง HDDs, ICs, PCB นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบอย่างการแปรรูปยางพาราซึ่งจีนนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อไปผลิตต่อและส่งออกไปสหรัฐฯ ก็อาจมีการย้ายฐานการผลิตมาไทยเพิ่มเติมได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลบวกทางตรงของการกระจายฐานการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงในไทย ไม่ว่าจะเป็นบรรษัทต่างชาติที่ประกาศเจตนารมณ์แล้วและบางส่วนที่มีแนวโน้มย้ายฐานมาไทยเพิ่มจากสงครามการค้าอาจช่วยเพิ่มมูลค่า FDI ในไทยในช่วง 3 ปีแรกของสงครามการค้า (2562-2564) ได้อย่างน้อย 800 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิโดยเฉลี่ยต่อปีในไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ค่าเฉลี่ย FDI ปี 2558-2560) เท่านั้น

อนึ่ง ไทยอาจได้รับอานิสงส์ทางอ้อมผ่านการส่งออกสินค้าขั้นกลางอย่างเม็ดพลาสติกหรือสิ่งทอเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำในกลุ่ม CLMV ที่อาจได้อานิสงส์ FDI ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกิดการกระตุ้นการใช้กำลังการผลิตภายในประเทศ

ทั้งนี้ สิ่งทอ เม็ดพลาสติก ซึ่งผู้ประกอบการในไทยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติไทย ดังนั้น อานิสงส์ทางอ้อมนี้จะมีส่วนเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงมากอยู่แล้วอย่าง เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 97 ณ ไตรมาสที่ 3/2561) หรือมีส่วนช่วยกระตุ้นการผลิตให้มากขึ้นในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ค่อนข้างต่ำอย่าง สิ่งทอ (ร้อยละ 50 ณ ไตรมาสที่ 3/2561) เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศ CLMV

นโยบายการค้าเสรีที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจนนำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Value Chain: GVC) ที่ซับซ้อน อย่างไรก็ดี สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศอื่นๆ ได้สร้าง “ความไม่แน่นอน (Uncertainty)” ให้เกิดขึ้นต่อภาพรวมการค้าการลงทุนของโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนที่นับได้ว่าเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของห่วงโซ่การผลิตโลกในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งจะกระทบกับการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคต่อไป

“ทิศทางการกระจายการลงทุนของ MNEs ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของทางการไทยที่ต้องการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และหากพิจารณาประเภทสินค้าที่ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการกระจายการผลิตออกจากจีนนั้น สินค้าบางประเภทกำลังเสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะ HDDs ดังนั้น การกระจายการลงทุนออกจากจีนดังกล่าวไม่ได้มีส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของไทยอย่างมีนัยสำคัญ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

นอกจากนี้ หากมองไปในระยะยาว นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านสงครามการค้าที่กำลังจะเปลี่ยนบทบาทผู้รับการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตของโลกแล้ว กระแส “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution)” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำลังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภัณฑ์ (Product change) และด้านกระบวนการดำเนินการ (Process change) นั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดรูปแบบของ FDI ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าที่อาจจะสั้นลง (Shortened value chain) ความคล่องตัวในการผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้น (Higher agility of manufacturing systems) หรือแม้กระทั่งการนำเอาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อมาแก้ไขความท้าทายด้านค่าแรงที่สูงขึ้นและจำนวนแรงงานที่ลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย จนอาจจะไม่ต้องอาศัยการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกเหมือนในอดีต หรืออาจก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศผู้ลงทุนได้ (Home country) จึงนับเป็นปัจจัยท้าทายต่อสถานะผู้รับการลงทุนของอาเซียนและไทยที่ต้องเตรียมรับมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้