HoonSmart.com>>บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ไฟเขียวแนวทางปรับปรุงมาตรการซื้อขายหุ้น ให้ชอร์ตเซลได้เฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 คาดเริ่มใช้ไตรมาส 2 นี้ จากปัจจุบันมีหุ้นมากกว่า 200 ตัวที่ชอร์ตเซลได้ รวมถึงให้ส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFTได้เฉพาะ SET 100 เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน สร้างเสถียรภาพตลาดหุ้น ตลท.ยันจะไม่มีการแก้เกณฑ์ตลอดปี 68 เพื่อสร้างความมั่นใจในเชิงนโยบาย
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์(บอร์ดตลท.)วันที่ 19 ก.พ. 2568 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงมาตรการเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นที่ได้เริ่มใช้บังคับในช่วงปี 2567 โดยได้พิจารณาแนวทางและมาตรการอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของการใช้มาตรการตามสถานการณ์ มุ่งหวังที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน และสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย หลังจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะใช้บังคับได้ประมาณปลายไตรมาส 2 ปีนี้
สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
(1) การกำกับดูแลการขายชอร์ต
• ปรับปรุงคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ ให้เป็นหลักทรัพย์เฉพาะในกลุ่ม SET100 จากเดิมที่กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 และ non-SET100 ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง (คือ มีมาร์เก็ตแคปเฉลี่ย 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท และมี มูลค่าการซื้อขายหรือ Monthly Turnover ในรอบ 12 เดือน ไม่น้อยกว่า 2% รวมทั้งมีการกระจาย Free Float ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้ว)
• กำหนดให้ใช้เกณฑ์ Uptick เมื่อจำเป็น คือ กรณีปกติสามารถใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick สำหรับการขายชอร์ตได้ เว้นแต่เมื่อหลักทรัพย์ใดมีราคาลดลงถึงระดับที่กำหนด (เช่น ≥X% จากราคาปิดของวันก่อนหน้า) จึงจะต้องขายชอร์ตหลักทรัพย์นั้นด้วยเกณฑ์ Uptick ในวันทำการถัดไป
ทั้งนี้ระดับที่กำหนดจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยตลท. มีการศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลากหลายตัวเลข 10% หรือ 15% ซึ่งจะมีการเฮียริ่งจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป หากกำหนดระดับที่สูงเกินไป ทำให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดหรือหุ้นใดหุ้นหนึ่ง เป็นสิ่งที่ตลาดต้องกังวลด้วยจึงต้องหาระดับในการกำหหนดที่เหมาะสม
(2) การกำกับดูแล HFT
• กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ขึ้นทะเบียนส่งคำสั่งซื้อขายแบบ High Frequency Trading (HFT) สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 ทั้งนี้ไม่รวมผู้ดูแลตลาดหรือ Market Maker และหลักทรัพย์บางประเภท
(3) การผ่อนคลายมาตรการที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2567
• ยกเลิกเกณฑ์กำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย (order) ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time)
• เลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์การกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ Phase 2 ออกไป
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเชิงนโยบาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคงมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และที่จะมีการปรับปรุงในครั้งนี้ให้มีการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยจะทบทวนอีกครั้งในปี 2569
“การทบทวนมาตรการครั้งนี้ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นและหวังว่าปริมาณการซื้อขายและสภาพคล่องจะกลับเข้ามา จากข้อมูลสถิติปริมาณการซื้อขายก่อนใช้มาตรการในเดือนมิ.ย. 2567 อยู่ที่เฉลี่ย 4.4 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 ที่มีการประกาศใช้มาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของหุ้นและมาตรการกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ปริมาณการซื้อขายลดลงเหลือ 3.2 หมื่นล้านบาท ก่อนฟื้นตัวช่วงครึ่งเดือนหลัง อย่างไรก็ตามปริมาณการซื้อขายที่ลดลงมีหลายปัจจัยประกอบ แต่เชื่อว่าด้วยมาตรการที่ปรับปรุงในครั้งนี้ มีความต้องการให้มูลค่าการซื้อขายกลับมาอีกครั้ง”นายอัสสเดชกล่าว
แหล่งข่าวจากตลาดทุนกล่าวว่า ปัจจุบันมีหุ้นที่สามารถทำชอร์ตเซลได้มากกว่า 200 บริษัท ซึ่งการจำกัดให้ทำได้เฉพาะหุ้นใน SET 100 เจะช่วยลดแรงกดดันการขายหุ้นขนาดกลางมากกว่า 100 ตัว ซึ่งอาจจะเห็นราคาที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะไม่มีการยืมาหุ้นมาขายตัดหน้า ส่วนการใช้เกณฑ์ Uptick เมื่อจำเป็น คาดว่าจะใช้ 10% แต่ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงต้องเปิดเฮียริ่งเพื่อเป็นมติที่นำมาใช้ในอนาคต