แบงก์เด่น ถูก-แกร่ง ลุ้น BBL ปันผลเพิ่ม ธปท.รับผ่อน LTV-สินเชื่อปี 67หดแรง 15 ปี

HoonSmart.com>>แรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ไม่มีตก ราคาบวกหนุนดัชนีหุ้นขึ้นต่อ 1 จุด แลกมัดขายหุ้น  DELTA  นักลงทุนเน้นธนาคารใหญ่ ราคายังถูก PBV ต่ำ ปันผลสูง  ดักทางปัดฝุ่นเกิดกองทุน LTF ธนาคารกรุงเทพ(BBL) พบนักวิเคราะห์ บล.กรุงศรีคาดเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น  ด้านธปท. เผยสินเชื่อทั้งระบบแบงก์ปี 67 หดตัว 0.4% สูงสุดรอบ 15 ปี คุมเข้มปล่อยกู้หวั่นหนี้เสีย  แอ่นอกรับข้อเสนอภาคอสังหาฯ ขอผ่อนเกณฑ์ LTV  

ตลาดหุ้นวันที่ 18 ก.พ.68 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,257.48 จุด เพิ่มขึ้น 1 จุด หรือ +0.08% มูลค่าซื้อขาย 47,364 ล้านบาท โดยสถาบันไทยกลับมาซื้อสุทธิ 1,410.64 ล้านบาท ส่วนรายย่อยขายทำกำไรต่อ 1,293.90 ล้านบาท  บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 113.58 บาท ต่างชาติขายเพียง 3.16 ล้านบาท

ตลาดหุ้นบวกได้ ท่ามกลางแรงขายหุ้น DELTA  ออกมาอย่างหนักหน่วง ราคาปิดที่ 77.75 บาท ดิ่งลงแรงถึง -10.12% หรือ -8.75 บาท
มูลค่าซื้อขายมากถึง 4,244.73 ล้านบาท เนื่องจากมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารอย่างต่อเนื่อง นำโดยธนาคารกรุงไทย (KTB) พุ่งขึ้น 3.03% ราคาปิดที่ 23.80 บาท ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บวก 2.85% ปิดที่ 162.50 บาท SCB บวก 2.45% ปิดที่ 125.50 บาท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บวก 1.30% ปิดที่ 156 บาท รวมถึงหุ้นการบิน หลัง AOT เปิดทางให้แสดงความจำนงขยายระยะเวลาชำระเงิน เพิ่มกระแสเงินสด ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

บล.กรุงศรีมองกลุ่มธนาคารปรับขึ้นเด่น แรงหนุนหลักๆ คือ หุ้นปันผลสูง และวันนี้ (18 ก.พ.2568) BBL มีการประชุม  มีมุมมองบวกเล็กน้อย เพราะมีโอกาสลุ้นปรับเพิ่มอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผล ในการจ่ายปันผลรอบนี้ ซึ่งจะประกาศปลายเดือน ก.พ. และตั้งเป้าปี 2568 สินเชื่อรวมเติบโต 3-5% จากสินเชื่อภาคธุรกิจ และต่างประเทศ

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดอยู่ในลักษณะพักฐานหลังปรับตัวลงแรง โดยหุ้น DELTA ยังคงกดดันดัชนีฯ หากไม่มี DELTA ตลาดจะยืนบวกได้ดีกว่านี้ ส่วนหุ้น AOT ทรงตัว

ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียวันนี้ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนบวก ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนที่ปรับขึ้น ส่วนตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้ติดลบเล็กน้อย จากแรงขายทำกำไรหลังขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง แนะให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งก่อน, อัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน และตัวเลข PMI ภาคการผลิต และบริการของทั่วโลกที่จะทยอยประกาศออกมา

ทางด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวว่า ในปี 2567 ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ หดตัว 0.4% ถือเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2566 ที่สินเชื่อหดตัว 0.3%

” สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 0.5% มาจากรายใหญ่ที่ขยายตัว 2% หากรวมสินเชื่อภาครัฐจะขยายตัว 3.4% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หดตัว-5.0% จากเดิม -5.7% สินเชื่อรายย่อยหดตัวทุกประเภทอยู่ที่ -1.9% โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อในไตรมาสที่ 4/67 ที่หดตัว -9.9% เป็นการหดตัวต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส  มาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่า ธปท.จะเห็นสัญญาณการยึดรถเข้าลานประมูลน้อยลง ทำให้ราคารถมือสองกลับมาปรับดีขึ้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ ธปท.ต้องจับตาดูอยู่”

สำหรับNPLs ในปี 2567 ปลดลงทั้งปริมาณ และสัดส่วน โดยหนี้เสียอยู่ที่ 5.50 แสนล้านบาท สัดส่วน 2.78% ลดลงจากไตรมาสที่ 3/67 ซึ่งอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.97% หรือเป็นหนี้เสียที่ปรับลดลงราว 2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการปรับลดลงในรอบหลายไตรมาส ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ NPLs เพิ่มขึ้นจาก 3.82% เป็น 3.88%  คาดว่า “มาตรการคุณสู้ เราช่วย” จะทำให้หนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับดีขึ้นในรอบไตรมาสถัดไป

ทั้งนี้หนี้ NPLs ลดลงส่วนใหญ่มาจากการปลดการจัดชั้นหนี้เสียของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อ SME และรายย่อย ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข และถูกขยับชั้นจาก Stage 3 เป็นสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2) เพิ่มขึ้นมาอยู่ 6.98% โดยปัจจุบัน ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้สะสมอยู่ที่ 7.18 ล้านบัญชี และคิดเป็นมูลหนี้อยู่ที่ 2.66 ล้านล้านบาท

สำหรับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ข้อมูลล่าสุด ณ 16 ก.พ. 2568 มีผู้ลงทะเบียน 8.2 แสนราย หรือคิดเป็น 9.9 แสนบัญชี  จากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ลงทะเบียนอยู่ที่ 6.3 แสนราย แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพียง 2.4 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้ลงทะเบียน ถือว่าค่อนข้างน้อย มาจาก 3 เหตุผลหลัก 1.ลงทะเบียนผิดเจ้าหนี้ 2.ผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้ที่ดี ไม่ได้ค้างชำระหนี้ 3.ลูกหนี้มียอดวงเงินเกินกำหนด และ 4.ลูกหนี้ปิดบัญชีไปแล้ว
ส่วนการขยายโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non bank) มีผู้ร่วมโครงการ 2 ราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วม แต่จะต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติของธนาคารออมสิน เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ให้ Non bank จึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้วย

ด้านน.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธปท.กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือถึงปัญหาและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้าง  โดยข้อเรียกร้องคือ การขอผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) สำหรับการซื้อบ้าน สัญญาที่ 2-3 ซึ่งธปท. ยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัวจึงต้องมอนิเตอร์ปัจจัยเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ธปท. เตรียมนำข้อมูลที่หารือร่วมกับผู้ประกอบการ และข้อมูลที่มีอยู่ นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโบบายสถาบันการเงิน (กนส.) แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีความชัดเจนเมื่อไร ต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม และทำแล้วเกิดประโยชน์ช่วยได้จริงหรือไม่