HoonSmart.com>>”โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่”(GPSC) โชว์กำไรสุทธิปี 67 ที่ 4,062.38 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 66 ที่มีกำไร 3,694.22 ล้านบาท หลักมาจากกำไรขั้นต้น 20,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) ที่เพิ่มขึ้น 3,057 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 90,730 ล้านบาท ลดลงจากปี 66 ที่มี 91,079 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4/67 กำไรสุทธิ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากไตรมาส 3/67 จากเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ (ไม่รวมส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุม) ปี 2567 จำนวน 4,062.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.44 บาท เพิ่มขึ้น 368 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 จากปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 3,694.22 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 90,730 ล้านบาท ลดลง 349 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 91,079 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่าย (รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) ทั้งสิ้น 88,106 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงานอื่น รายได้อื่น เงินปันผล และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า 2,147 ล้านบาท
กำไรปี 2567 โดยหลักมาจากกำไรขั้นต้น 20,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,122 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) ที่เพิ่มขึ้น 3,057 ล้านบาท อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิง ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าค่า Ft ซึ่งเป็นองค์ประกอบบางส่วน เฉพาะผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่ส่งผลต่อราคาขายไฟฟ้าอุตสาหกรรมจะลดลงก็ตาม แต่บริษัทฯ ยังคงมีโครงสร้างรายได้หลักในส่วนของไฟฟ้า ไอน้ำที่ส่งผ่านต้นทุนได้ โรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ลดลง 2,021 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน มีค่าเชื้อเพลิงส่วนต่าง (Energy margin) ลดลง ซึ่งเป็นผลทางบัญชี ที่ราคาต้นทุนถ่านหินเฉลี่ยจากถ่านหินคงคลังสำหรับปี 2567 สูงกว่ารายได้ค่าถ่านหินที่สามารถเรียกเก็บจาก กฟผ. ขณะที่ปี 2566 ไม่มีขาดทุนจากค่าเชื้อเพลิงส่วนต่าง เนื่องจากหยุดเดินเครื่อง (Reserved shutdown) ตามแผนการเดินเครื่องของ กฟผ. โรงไฟฟ้า SRC มีกำไรขั้นต้นลดลง เนื่องจากในปี 2566 มีการเดินเครื่องโดยใช้น้ำมันดีเซล ขณะที่ในปี 2567 มีการเดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติซึ่งมีกำไรผันแปรต่ำกว่าการเดินเครื่องโดยใช้น้ำมันดีเซล
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวน 2,171 ล้านบาท ลดลง 252 ล้านบาทหรือร้อยละ 10 โดยหลักมาจากค่าที่ปรึกษาพัฒนาธุรกิจลดลง รายได้อื่นสุทธิ จำนวน 1,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270 ล้านบาทหรือร้อยละ 23 โดยหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น 459 ล้านบาทหรือร้อยละ 75 จากการบริหารจัดการกระแสเงินสดภายในบริษัทฯ ขณะที่มีการบันทึกการปรับมูลค่าเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าของ บริษัท ไทยโซล่าร์รีนิวเอบิล (TSR) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดในอนาคตจำนวน 172 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 2567 จำนวน 300 ล้านบาท ลดลง 223 ล้านบาท หรือร้อยละ 43 เนื่องจากมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ของปี 2566 จากการใช้ประโยชน์ของผลขาดทุนสะสมทางภาษี และภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ส่งผลให้ภาพรวมรายการภาษีเงินได้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 ทั้งนี้เงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าสำหรับงวด 12 เดือน ปี 2567 มีจำนวน 493 ล้านบาท ลดลง 784 ล้านบาท (ปี 2566 : 1,277 ล้านบาท) เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรฯจาก AEPL ลดลง โดยหลักมาจากในไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด
ค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าเสื่อมราคาตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น TSR ลดลง สาเหตุหลักมาจากราคาขายไฟฟ้าปรับลดลงเนื่องจากค่า Adder ที่ได้รับทยอยหมดอายุตั้งแต่ปี 2566 และหมดอายุทั้งหมดในเดือน มิถุนายน ปี 2567 CFXD ส่วนแบ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น 197 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงจากเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์ไต้หวันอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ XPCL ส่วนแบ่งกำไรลดลงเนื่องจากหยุดการผลิต 17 วันในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ในขณะที่ NUOVO PLUS ส่วนแบ่งขาดทุนลดลง 149 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2566 มีการบันทึกค่าเผื่อการด้อยค่ามูลค่าสินทรัพย์โรงงานแบตเตอรี่ ขณะที่ปี 2567 ไม่มีรายการดังกล่าว อีกทั้งบริษัทฯ เริ่มรับรู้รายได้จากบริษัทร่วมทุน NV GOTION ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ต้นทุนทางการเงิน จำนวน 5,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 492 ล้านบาท หรือร้อยละ 9 จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินกู้ยืมของกลุ่มกิจการที่เพิ่มขึ้น ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับงวด 12 เดือน ปี 2567 มีจำนวน 258 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2566 มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 252 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักเกิดจากการบันทึกมูลค่าเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนไตรมาสที่ 4 ปี 2567 กำไรสุทธิของบริษัทฯ จำนวน 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 230 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2567 สาเหตุหลักเนื่องจากเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า จำนวน 473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 429 ล้านบาท (ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 : 44 ล้านบาท) สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า XPCL มีผลประกอบการดีขึ้น จากปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 288,136 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 129,992 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 119,142 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับ 0.87 เท่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายทางการเงินของบริษัท