โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ไม่ต้องอ่านข้อมูลเศรษฐกิจก็รู้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ง่าย คนตกงานเป็นว่าเล่น อะไรที่ไม่จำเป็น ก็หักห้ามใจตัวเอง ท่องไว้เลยนะ “เงินมีเวลาหยุดหา แต่ไม่มีเวลาหยุดใช้” เก็บเงินไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็นยามจำเป็นจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้องกว่านะ
พูดถึงคนตกงาน ก็มีเพื่อนถามมาเกี่ยวกับเงินประกันสังคม ซึ่งหลายคำถามเป็นคำถามที่ดี จึงขอนำมาคุยต่อในที่นี้ครับ
อายุยังไม่ถึง 55 ปี จะขอเอาเงินออกจากประกันสังคมก่อนได้ป่าว? หรือ กู้เงินจากประกันสังคมได้ป่าว?
กรณีที่ผู้ประกันตนยังทำงานอยู่จะไม่สามารถขอรับเงินชราภาพได้ เนื่องจากว่าเงื่อนไขการขอรับเงินชราภาพนั้น ผู้ประกันตนจะต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และได้สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้ว (ลาออกจากงาน) จึงจะมีสิทธิมาขอรับเงินชราภาพได้ โดยจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว) หากส่งเงินสมทบมาตั้งแต่ 1-179 เดือน และจะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีอายุ 55 ปี หรือมากกว่าแต่ยังทำงานอยู่ยังต้องนำส่งเงินสมทบเพื่อสะสมต่อไป จนกว่าจะออกจากงาน จึงจะมีสิทธิขอรับได้
ส่วนเรื่องการกู้เงินจากประกันสังคม เป็นข่าวปลอมที่แชร์กันบนสื่อออนไลน์ ซึ่งทางประกันสังคมไม่มีนโยบายปล่อยสินเชื่อประกันสังคม สรุป คือ ไม่สามารถกู้เงินประกันสังคมได้
นายจ้างไม่จ่ายเงินเข้าประกันสังคม ลูกจ้างต้องทำอย่างไร?
ตามกฎหมายประกันสังคม “นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนด้วยกับทางประกันสังคม โดยต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีการจ้างงาน เมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ก็จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายในกำหนด 30 วัน เช่นเดียวกัน และนายจ้างจะต้องเป็นผู้หักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง โดยต้องมีการคำนวณเงินสมทบค่าจ้าง ฐานของเงินค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยลูกจ้างจะถูกหักจ้างเงินเดือน 5% ตามด้วยเจ้าของกิจการ (นายจ้าง) จ่ายสมทบ 5% และรัฐบาลจ่ายสมทบอีก 2.75%
เมื่อมีลูกจ้างลาออกไปนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องแจ้งเอาชื่อลูกจ้างออกจากประกันสังคมด้วยเช่นเดียวกัน โดยต้องระบุสาเหตุของการออกจากงาน ต้องแจ้งภายใน 15 วันของเดือนถัดไป” นายจ้างที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างไม่ได้เป็นผู้ประกันตน และไม่ได้รับสิทธิจากประกันสังคมนั้น ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ นายจ้างถือว่ามีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓๕๑/๒๕๖๑ (คดีฟ้องสำนักงานประกันสังคม) เรื่อง กรณีที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ต้องถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว เมื่อนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างจำนวน ๘ เดือน ลูกจ้างส่งเงินสมทบ ๑๗๕ เดือน รวมแล้วลูกจ้างจึงส่งเงินสมทบทั้งสิ้น ๑๘๓ เดือน ต้องรับบำนาญชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ ทวิ วรรคหนึ่ง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัท ร. จ ากัด ต่อมาโจทก์สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตน ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗ รวมระยะเวลาที่โจทก์จ่ายเงินสมทบ ๑๗๕ เดือน โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับเงินบำนาญชราภาพ โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะโจทก์ส่งเงินสมทบเพียง ๑๗๕ เดือน โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ วินิจฉัยยกอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณี ชราภาพแก่โจทก์เป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ศาลแรงงานภาค ๒ พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๔๗
• วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๖ และให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่ วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง”
• วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่ได้หักไว้ ตามวรรคหนึ่ง และเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้…”
• วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลาที่ต้องจ่าย ให้นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง โดยถือเสมือนว่ามีการจ่ายค่าจ้างแล้ว”
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างหักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของ ผู้ประกันตน จึงต้องแปลความหมายของบทบัญญัติทั้งสามวรรคไปในทำนองเดียวกัน
• วรรคหนึ่ง เป็นกรณี นายจ้างจ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่
• วรรคสาม เป็นกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าวให้ถือเสมือนว่านายจ้างได้จ่ายค่าจ้างแล้ว แม้ไม่ได้บัญญัติให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วก็ตาม แต่เมื่อนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่ และการแปลความซึ่งต้องให้สอดคล้องกับ บทบัญญัติวรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว
โดยนายจ้างต้องรับผิดชำระหนี้เงินสมทบ ดังกล่าวต่อจำเลยตามมาตรา ๔๗ ทวิ และมาตรา ๕๐ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๒ – ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ จำนวน ๘ เดือน โจทก์จึงส่งเงินสมทบรวมทั้งสิ้น ๑๘๓ เดือน ต้องรับบำนาญชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ ทวิ วรรคหนึ่ง พิพากษายืน
เป็นคำถาม 2 ข้อที่เพื่อนถามมาเช้านี้ หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านอื่นๆด้วยครับ