HoonSmart.com>>หุ้น”ท่าอากาศยานไทย”(AOT)กอดคอ”เอสซีบี เอกซ์” (SCB) ร่วงแรง เจอทิ้งหนัก วอลุ่มรวมสูงถึง 11,987 ล้านบาท บิ๊ก AOT ยอมรับลูกหนี้รายใหญ่”คิงพาวเวอร์”มีปัญหาสภาพคล่อง ไม่จ่ายค่าสัมปทาน 4 พันล้านบาท ขอเจรจาแก้ไขสัญญา บล.บัวหลวงห่วงหนี้ค้างชำระสูง ยังไม่ได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สูญ บล.กรุงศรีหวั่น ต้องประมูลใหม่ รายได้เสี่ยงหายราว 14,000 ล้านบาท ส่วนแบงก์ไทยพาณิชย์เสี่ยง ถูกเล็งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ NPL เพิ่มขึ้น ประเมินหลักพันล้าน
วันที่ 14 ก.พ.2568 นักลงทุนถล่มขายหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) กดราคาหุ้นดิ่ง 13.76% ลดลง 7.50 บาท ปิดที่ 47 บาท มูลค่าการซื้อขายสูงสุดของวันที่ 8,720.08 ล้านบาท และขายหุ้นบริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ราคาร่วง 3.21% ลดลง 4 บาท ปิดที่ 120.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,266.56 ล้าบาท หลังผู้บริหาร AOT ยอมรับว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีปัญหาสภาพคล่อง ขอเลื่อนชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวถึงกรณี บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี คู่สัญญาประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) มีปัญหาสภาพคล่องมาตั้งแต่ช่วงเกิดโควิด-19 และมีการเจรจากับ AOT เพื่อขอเลื่อนการชำระค่าตอบแทนและปรับสัญญา โดยได้ยื่นเสนอขอเจรจาลดค่าปรับกรณีจ่ายค่าตอบแทนล่าช้า ซึ่งตามสัญญากำหนดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 18% ต่อปี หรือ 1.5% ต่อเดือน ขอลดดอกเบี้ยค่าปรับ ซึ่งจะไม่ต่ำกว่า MLR+2% หรือประมาณ 9%
“ตอนนี้มีผู้ประกอบการค้างชำระจ่ายค่าตอบแทนรวมมากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเป็นของคิงเพาเวอร์ 4,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการปรับดอกเบี้ยค่าปรับล่าช้า หากรายใดต้องการเจรจาก็ต้องยื่นข้อเสนอและเข้ามาเจรจา นับตั้งแต่เดือนก.พ. 2568 เป็นต้นไป”นายกีรติกล่าว
ทางด้านคณะกรรมการ AOT ได้มีมติบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการและสายการบินจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของทอท.ทั้ง 6 แห่งที่ขาดสภาพคล่อง โดยต้องมีหลักประกันสัญญาและวงเงินของหลักประกันสัญญาต้องครอบคลุมเงินต้นรวมกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตราดอกเบี้ย 18% ทั้งนี้ อ้างอิงดอกเบี้ยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 5 แห่งที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และบวกอีก 2% ต่อปี แต่จะต้องไม่น้อยกว่าต้นทุนทางการเงินของ AOT ที่ประมาณ 3% ซึ่งกรณี MLR+2% ไม่กระทบต่อต้นทุนทางการเงินของ AOT
นายกีรติกล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยค่าปรับให้กับผู้ประกอบการ จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ AOT เพราะจะยังคงได้รับรายได้เหมือนเดิม บริษัทต้องพยายามช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งเป็นหลักการปกติทั่วโลก ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีหลายรายก็มีปัญหาสภาพคล่อง AOTเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องยึดมั่นในสัญญา ไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขสัญญา
สำหรับอีกสาเหตุหนึ่งที่กดดันราคาหุ้น AOT ร่วงลงแรงหลังจากประกาศกำไรไตรมาส 1/2568 ( ต.ค.-ธ.ค.2567) นายกีรติ ยืนยันว่า กำไรสุทธิที่ 5,344 ล้านบาทนั้น ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์และสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เหมาะสมตามสัดส่วนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 16.5% ส่วนกรณีการขอคืนพื้นที่จากคิงเพาเวอร์ ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อ AOT เพราะเงินหายไป
ส่วนการลงทุนโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด AOTแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเปิดประมูลในเดือน พ.ค. 2568 ส่วนการพัฒนา ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ผ่านมติครม. วงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลในเดือนธ.ค.2568
บล.บัวหลวงวิเคราะห์หุ้น AOT ผลการดำเนินงานหลักดี แต่มีประเด็นเรื่องหนี้ค้างชำระจากดิวตี้ฟรี AOT มีการบันทึกหนี้ระยะยาว 5,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2567 มาจากการขอพักจ่ายชำระหนี้ของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ซึ่งผู้บริหารชี้แจงว่า เกิดจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ขาดสภาพคล่อง ขอเลื่อนจ่ายรายได้ตั้งแต่เดือนส.ค.2567 จนถึงปัจจุบัน โดยเลื่อนออกไป 18 เดือน คิดค่าปรับ18% ต่อปี ขณะที่ AOT ยังไม่ได้มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญเพราะยังมีหลักประกันเป็นแบงก์การันตี ที่ทางบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีวางไว้อยู่ แต่ไม่เปิดเผยจำนวน ส่วน
การดำเนินงานหลักยังโตดี โดยการจองการบินของสายการบินเดือนเม.ย. ถึงต.ค ยังเติบโต 25%จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“เรามีความกังวลต่อภาระหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตั้งสำรองหนี้สูญเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือรายได้ลดลงในอนาคต เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง กดดันราคาหุ้น AOT”บล.บัวหลวงระบุ
ทางด้านบล.กรุงศรีวิเคราะห์หุ้น AOT ตลาดกังวลหลักๆ คือ กรณีลูกหนี้ไม่หมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 838 ล้านบาท เป็น 2,026 ล้านบาท และ 5,703 ล้านบาท ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดย 1 ในลูกหนี้สำคัญเชื่อว่า คือคิงพาวเวอร์ฯ ตลาดจึงกังวลว่าAOT อาจต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และถ้าคิงพาวเวอร์ไม่ไหว อาจต้องจัดประมูลใหม่ซึ่งคาดว่า Minimum Guarantee อาจไม่สูงเท่าเดิม (ราว 25,000 ล้านบาทต่อปี)
อย่างไรก็ตาม ในการทำสัญญา AOT จะมีการให้เอกชนวางแบงก์การันตี(ระยะเวลา 2 ปี) ดังนั้นเบื้องต้นกรณีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญคงไม่น่ากังวลเท่าไร ที่น่ากังวลน่าจะอยู่ที่หากประมูลใหม่แล้ว Minimum Guarantee ต่ำกว่าเดิม ซึ่งเดิมก่อนที่จะเป็นสัญญาใหม่ Minimum Guarantee อยู่ที่ราว 11,187 ล้านบาทต่อปี แปลว่ารายได้ AOT อาจจะหายไปราว 14,000 ล้านบาท ถ้าประมูลใหม่แล้ว Minimum Guarantee ลดลงไปเหลือเท่าสัญญาเก่า ทั้งนี้ ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับว่าฐานะทางการเงินคิงพาวเวอร์น่ากังวลขนาดที่ตลาดกังวลหรือไม่
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มอง AOT ทำกำไรปกติไตรมาส 1 ออกมาต่ำกว่าที่เราและตลาดคาด 4-6% สาเหตุหลักจากรายได้รวมที่ต่ำคาด โดยเฉพาะรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่เติบโตเพียง 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังคงประมาณการคำแนะนำซื้อ แต่ปรับ WACC ที่ใช้ประเมินมูลค่าขึ้นเป็น 8.3% (จากเดิม 7.9%) เพื่อสะท้อนสภาวะตลาดปัจจุบันที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ได้ราคาเหมาะสมใหม่ที่ 64 บาท
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหาร AOT ระบุว่า ประเด็นที่สร้างความกังวลเป็นเรื่องลูกหนี้การค้าไม่หมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อน ซึ่งผู้บริหารแจ้งมีผู้ประกอบการหลายรายขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะรายใหญ่”คิงพาวเวอร์”ที่เข้ามาเจรจาขอเลื่อนการชำระค่าตอบแทนในช่วงเดือนส.ค.2567 ถึง ก.พ.2568 ไปอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยยอมเสียค่าปรับ 18% ต่อปี เนื่องจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลงจากปัจจัยเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในทุกสนามบิน ซึ่งคิงพาวเวอร์ฯมีสัดส่วนรายได้ราว 50% ของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์หรือคิดเป็นราว 16% ของรายได้ธุรกิจ และยังไม่ชัดเจนว่าหลังจากเดือนก.พ.จะมีการเข้าเจรจาเพื่อขอเลื่อนอีกหรือไม่ จึงเป็น Overhang อยู่
ทั้งนี้ มีการขอปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเก็บค่า PSC สำหรับ Transit/Transfer ทั้ง AOT และกรมการบินพลเรือนต่างฝ่ายได้ตั้งที่ปรึกษา และนำตัวเลขมาคุยกัน คาดเห็นความชัดเจนในเดือนก.ค.นี้ ก่อนเสนอให้คปร.อนุมัติ และเสนอต่อไปยัีงรัฐมนตรีคมนาคม
นอกจากนี้ มีการเปิดเปิดประมูลผู้ให้บริการภาคพื้นและคาร์โก้รายที่ 3 ภายใน ก.พ. จะเห็น TOR และน่าจะรู้ผลผู้ชนะในก.ค. ส่วนโครงการ MRO (ศูนย์ซ่อมบำรุง) ครัวการบิน Airport City น่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ สำหรับการรับโอน 3 สนามบินยังไม่มีความคืบหน้า
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น AOT ปรับตัวลงแรง ด้วยวอลุ่มเทรดที่เข้ามาอย่างหนาแน่น คาดว่าจะเป็นผลจากรายได้จากสัมปทานลดลงในไตรมาส 1 (ต.ค.-ธ.ค.2567) และคงจะยังไม่ฟื้นในไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค.2568) และลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องทำให้ชะลอจ่าย ดังนั้นรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบินอาจชะลอตัวมากกว่าที่ประเมิน
ส่วนคำแนะนำช่วงสั้นให้”ชะลอการลงทุน” หุ้น AOT ไปก่อน เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นอาจกระทบรายได้และผลประกอบการปี 2568 ทำให้นักวิเคราะห์อาจปรับลดประมาณการลง
นายณัฐพล พงษ์สุขเจริญกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ราคาหุ้น SCB ร่วงแรง ตาม AOT เป็นผลจาก AOT มีลูกค้าหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นมาก เพียงไตรมาสเดียวเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 ล้านบาทในไตรมาส 4/2567 เกิดจาก”คิงพาวเวอร์”เลื่อนชำระค่าสัมปทาน และยอมจ่ายค่าปรับ 18% ต่อปี อาจทำให้มีการประมูลสัมปทานกันใหม่ได้
ทั้งนี้ ตลาดมองกันว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของ”คิงพาวเวอร์” หากลูกหนี้มีปัญหาก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้ ธนาคารไทยพาณิชย์อาจต้องเผชิญกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs ก้อนใหญ่ เบื้องต้นประเมินเป็นหลักพันล้านก่อน ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงของ SCB ที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้แนะนำ”ถือ”SCB รอเงินปันผล ราคาเป้าหมายให้ไว้ที่ 110 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ เจพี มอร์แกน ปรับลดน้ำหนักการลงทุนของหุ้น SCB ลงจากเท่ากับตลาดเป็น”ต่ำกว่าตลาด” และลดราคาเป้าหมายลงมาอยู่ที่ 105 บาท จากเดิมที่ 122 บาท ประเมินจากค่า PBV ที่ 0.75 เท่า เนื่องจากหุ้นกลุ่มธนาคารไทย รวมถึง SCB มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมือง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง แต่ SCB ยังคงเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง อยู่ที่ 7% จากอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 65% ในปี 2567-2568 ลดลงจาก 80% ในปี 256ุ6