ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ชั่งน้ำหนักผลดี-เสีย Financial Hub ก่อนเข้าสู่เวทีโลก

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ร่าง พ.ร.บ.Financial Hub ควรชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจการเงิน กับเป้าหมายการดูแลด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงผลดี-ผลกระทบอื่นๆ อย่างรอบด้าน พร้อมมองไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาจุดเด่นทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ร่วมด้วยควบคู่กับการสร้าง Talent ด้านการเงินที่เพียงพอเร่งเพิ่มทักษะทางการเงินของคนไทย และความพร้อมของระบบชำระเงิน และ IT ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การพิจารณาจากร่างพ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินพ.ศ. ….หรือร่าง พ.ร.บ.Financial Hub เพื่อช่วยดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยมองว่าในระยะก่อนขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รายละเอียดต่าง ๆ ของร่างกฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก หากกฎหมายสามารถผ่านกระบวนการทางกฎหมายต่าง ๆ ได้จริง โดยสาระสำคัญยังคงอยู่ก็จะกลายเป็นโจทย์ยากของคณะกรรมการฯที่จะกำหนดรายละเอียดของกฎหมายและประกาศย่อยต่าง ๆ ภายใน 360 วันหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายในการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจการเงิน กับเป้าหมายของการดูแลด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงผลดี-ผลกระทบอื่นๆ อย่างรอบด้าน เพื่อให้แนวปฏิบัติในแต่ละระยะของการบังคับใช้กฎหมาย สามารถพาประเทศสู่ระดับศูนย์กลางทางการเงินที่เติบโตขึ้น โดยที่ยังสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของสถาบันการเงิน ตลาดทุน และผู้บริโภคในประเทศได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาจุดเด่นทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ร่วมด้วยควบคู่กับการสร้าง Talent ด้านการเงินที่เพียงพอเร่งเพิ่มทักษะทางการเงินของประชากรไทย และความพร้อมของระบบชำระเงิน และ IT ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับธุรกรรมมูลค่าสูงอันจะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการเริ่มต้นบทบาทใหม่ในครั้งนี้อย่างเต็มที่และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินพ.ศ. ….หรือร่าง พ.ร.บ.Financial Hub และยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองกรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินพ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง(กค.) เสนอซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ครม.ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub)เพื่อช่วยดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

สาระสำคัญเบื้องต้นของร่างพ.ร.บ.Financial Hub พ.ศ….มีดังนี้ วัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้นผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพมีการถ่ายทอดทักษะทางการเงินมากขึ้นและพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน(Ecosystem)ของประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนบทบาทให้ไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก และoลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(Non-Residents: NRs) เว้นแต่กิจกรรมการมีส่วนร่วมในตลาด(Market participants) โดยมี 9 หมวด 96 มาตรา ธุรกิจเป้าหมายเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด

โครงสร้างการดูแลจะมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน(คณะกรรมการฯ)โดยมีรมว.คลังเป็นประธาน, มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน(One Stop Authority: สำนักงาน OSA) ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐที่เป็นนิติบุคคลแต่ไม่เป็นส่วนราชการทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย และปฏิบัติงานด้านต่างๆในลักษณะเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) ขณะที่ทุนจัดตั้งจะมาจากทุนของรัฐบาลค่าธรรมเนียมและดอกผลที่เกิดจากการบริหารทรัพย์สินของสำนักงาน เป็นต้น

กรณีที่มีปัญหากระทบเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินให้คณะกรรมการฯ กำหนดหลักเกณฑ์ตามข้อเสนอของธปท. ก.ล.ต. และคปภ.

จุดที่น่าสนใจในร่างกฎหมาย ประเด็นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ(ม.53)โดยแม้ร่างกฎหมายจะระบุชัดเจนให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub สามารถชักชวน ขายสินค้า โฆษณา หรือให้บริการแก่ NRs เท่านั้น แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวสามารถให้บริการตัวแทนนายหน้าค้าจัดจำหน่ายหลักทรัพย์สัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศได้ในลักษณะ Business to Business (B2B) ซึ่งสะท้อนการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันด้านธุรกิจ Wealth Management ที่ขยายขอบเขตไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสามารถนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาขายลูกค้าที่มีถิ่นฐานอยู่ในไทย และนำไปลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Co-Service(กับสถาบันการเงินในประเทศ โดยที่ไม่ได้เป็นการให้บริการกับลูกค้าโดยตรง) ซึ่งย่อมจะทำให้การแข่งขันในธุรกิจนี้กับสถาบันการเงินไทยมีความเข้มข้นมากขึ้น จากในปัจจุบันที่ลูกค้าไทยสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ตลาดทุนจากต่างประเทศได้อยู่แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ด้วยเจตนาของร่างกฎหมายมองว่าการทำธุรกรรมในลักษณะ Out-Out ดังกล่าวอาจไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเงินของประเทศมากนัก ดังนั้น จึงได้อนุญาตให้มีการทำกิจกรรมที่ “มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนตลาดในประเทศ”หรือ Market Participant อื่น ๆ ด้วย เพื่อสนับสนุนโอกาสการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการด้านการเงินในประเทศ อาทิ การกู้ยืมในลักษณะ Interbank กับสถาบันการเงินไทย (ซึ่งถือเป็นธุรกรรมปกติในปัจจุบัน) รวมถึงสามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในประเทศไทย เพื่อโอนความเสี่ยงได้

สิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาไทย(ม.46-52)มีหลายด้านโดยให้สิทธิในการเป็นเจ้าของอาคารชุด การนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในไทยได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่สำนักงานฯ อนุญาติ (ในสาขาผู้เชี่ยวชาญผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ คู่สมรส และบุคคลในอุปการะ)สิทธิในการมีสถานะเป็นNRsที่ประกอบธุรกิจทางการเงินภายใต้กฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงินและมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและการประกอบอาชีพที่เคยจำกัดให้เฉพาะคนไทย หรืออาชีพที่แต่เดิมต้องได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองก่อน

สถานที่ประกอบธุรกิจ(ม.37-38) ให้ตั้งอยู่ในพื้นที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และการใช้ชีวิต เพื่อสนับสนุนการตั้งธุรกิจการเงินของของต่างชาติ

สำหรับภาคเอกชน ยังรอความชัดเจนเพิ่มเติม ร่างกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นการทาธุรกิจกับผู้มีถิ่นฐานในไทยทั้งหมด โดยในม.53 ร่างกฎหมายเปิดโอกาสให้คณะกรรมการฯ กำหนดเพิ่มเติมได้ภายใต้ข้อเสนอแนะของสำนักงานฯ และหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง โดยคงต้องติดตามกฎหมาย/ประกาศลำดับรองในอนาคต และคณะกรรมการฯมีอำนาจตามกฎหมายค่อนข้างมาก การที่ไม่ได้ตีกรอบอำนาจที่ชัดเจนก็ทำให้เกิดประเด็นปลายเปิดที่อาจมีผลต่อ Stakeholders ในประเทศมากขึ้นในอนาคต, ประเด็นความยุติธรรมในการแข่งขันกับสถาบันการเงินหรือผู้เล่นในไทย(Level Playing Field), ปัญหาการทับซ้อนของการกำกับดูแล หากในอนาคตมีการขยายขอบเขตมาให้บริการลูกค้าผู้มีถิ่นฐานในประเทศมากขึ้น คงจะหลีกเลี่ยงการทับซ้อนของการกำกับดูแลได้ยาก,

การดูแลประเด็นการฟอกเงินและการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีความซับซ้อนขึ้นตามปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการเงินที่เพิ่มขึ้น ส่วนนี้จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (พ.ร.บ.ปปง.)ที่ปัจจุบันกำหนดให้ต้องรายงานรายละเอียดของธุรกรรมเงินโอนของลูกค้าที่มีมูลค่าตั้งแต่ 7 แสนบาทขึ้นไป(หากเป็นธุรกรรมเงินสดจะเป็นมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไป)หรือตรวจสอบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยอันจะเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ ตามพ.ร.บ.Financial Hub รวมถึงหน้าที่ของสถาบันการเงินในประเทศที่เป็นคู่ธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ร่างกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงแรงจูงใจที่สาคัญในการดึงดูด NRs ให้เข้ามาตั้ง Office ในไทย อาทิ การลดภาษี ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคหลักของไทยเมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ และจะกระทบต่อประสิทธิผลของการตั้ง FinHub ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างไรก็ตาม การดำเนินการลดภาษีต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายของกรมสรรพากร ซึ่งการดำเนินการในทางปฏิบัติ อาจต้องประเมินถึงการออกแบบโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมทั้งระบบเพื่อหาจุดสมดุลระหว่าง 1) อัตราภาษีที่แข่งขันได้กับ Financial Hub อื่นๆ กับ 2) ผลกระทบต่อรายได้ภาษีของประเทศ และ 3) ความเท่าเทียมกันระหว่างNRsและกิจการ/ผู้มีถิ่นฐานในประเทศที่ยังต้องเสียภาษีอัตราเดิม