HoonSmart.com>>”กลุ่มเจมาร์ท” ฟื้นปี 67 แต่ยังเจอตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นหลอกหลอนต่อ JMART กำไรสุทธิ 1,140.8 ล้านบาท พุ่งขึ้น 355% รับส่วนแบ่งกำไรจากสุกี้ ตี๋น้อย สัดส่วน 30% เป็นเงิน 350.7 ล้านบาท ส่วนซิงเกอร์ฯ (SINGER) กลับมาขาดทุน 61 ล้านบาทในไตรมาส 4 “เจเอ็มที ฯ “(JMT) กำไรสุทธิ 1,615 ล้านบาท ลดลง 395.5 ล้านบาท หรือ -19.67% ขาดทุนทางด้านเครดิตเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บหนี้ที่น้อยกว่าคาด ลั่นปี 68 ดีขึ้น
บริษัท เจ มาร์ท (JMART) ประกาศผลงานปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1,140.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจำนวน 1,587.8 ล้านบาท คิดเป็น 355% แสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯและบริษัทย่อยได้กลับเข้าสู่สภาวะการเติบโต มีกำไรตามปกติ และไม่มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนใน บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) เหมือนในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ JMART มีรายได้จากการขายและบริการ 13,878.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้น 2.8% เป็น 9,391.5 ล้านบาท ทำให้กำไรขั้นต้นลดลง 118.2 ล้านบาท หรือ -2.6% เหลือ 4,487.3 ล้านบาท จากธุรกิจติดตามหนี้และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ยังคงเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง มีกำไร 1,615.2 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 19.7% เพราะขาดทุนทางด้านเครดิต (ECL) ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บหนี้ที่น้อยกว่าประมาณการณ์ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม เจเอ็มทีฯได้ปรับกลยุทธ์ เพิ่มมาตรการในการติดตามหนี้ด้อยคุณภาพให้ใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2567 เป็นต้นมา ระดับ ECL ที่ต้องสำรองลดลงอย่างชัดเจน และมีการจัดเก็บหนี้คุณภาพที่ดีขึ้น แนวโน้มในปี 2568 เจเอ็มทีคาดว่าจะมีระดับของ ECL อยู่ที่บริหารจัดการได้ และทิศทางเช่นเดียวกับในไตรมาส 3 และ 4/2567 ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทฯมีมติงดจ่ายเงินปันผล
นอกจากนี้ เจมาร์ทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป (สุกี้ ตี๋น้อย หรือ Suki Teenoi) สัดส่วน 30% เป็นเงิน 350.7 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 1,169 ล้านบาทในปี 2567
ทางด้านบริษัท เจ เอ็ม ที ฯ ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1,615.22 ล้านบาท ลดลง 395.5 ล้านบาท หรือ -19.67% มาจากรายได้รวม 5,226 ล้านบาท เติบโต 2.7% ในส่วนบริหารหนี้ด้อยคุณภาพยังคงมีการเติบโต และจะเติบโตไปพร้อมกับการจัดเก็บกระแสเงินสด โดยมีรายได้จากธุรกิจบริหารหนี้ สัดส่วน 89.7% ของรายได้รวม
บริษัทฯ มียอดกระแสเงินสดจากจัดเก็บหนี้ (Cash Collection) ในปี 2567 กรณีรวมบริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค 8,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 % เฉพาะของของบริษัท 5,618 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยคิดเป็น 3% จากปีก่อน อย่างไรก็ตามในไตรมาส 4/2567 สามารถควบคุมผลขาดทุนทางด้านเครดิตได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 61 ล้านบาท รวมทั้งปี 612.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150.4 ล้านบาท หรือ 32.5%จากปี 2566
ทางด้านบริษัท SINGER แม้สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 13.73 ล้านบาทในปี 2567 ดีขึ้นมากกว่า 100% จากขาดทุนมากถึง -3,209.60 ล้านบาท ในปีก่อน เพราะมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตในธุรกิจสินเชื่อของบริษัทย่อย และการตั้งสำรองการลดลงของมูลค่าสินค้าในบริษัท รวมทั้งสินค้าล้าสมัยในสินค้าคงเหลือลดลงอย่างมีสาระสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2566
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4/2567 บริษัทมีผลขาดทุน 61 ล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วย สินค้าคงเหลือ เครื่องมือ อุปกรณ์ และผลขาดทุนด้านเครดิตของบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น พลิกจากกำไรสุทธิ 20 ล้านบาท 27 ล้านบาท และ 27 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1-3 ในปีที่ผ่านมา
บริษัท เอสจี แคปปิตอล (SGC) มีกำไรสุทธิ 162.68 ล้านบาท พลิกจากปีก่อนขาดทุน เกิดจากยอดขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดีขึ้น เหลือเพียง 652.1 ล้านบาท เทียบกับระดับ -3,118.7 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 1,954.8 ล้านบาท ลดลง 214.7 ล้านบาท คิดเป็น -9.9% เพราะดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อและเงินให้กู้ยืมลดลง 14.4% เหลือจำนวน 1,788.6 ล้านบาท
บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท (J) มีกำไรสุทธิ 165.61 ล้านบาท ลดลง -14.01% จากปีก่อน