HoonSmart.com>>”ไออาร์พีซี” (IRPC) มุ่งสร้างความเข้มแข็งจากธุรกิจหลัก ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ท่าเรือ อสังหาริมทรัพย์ รุกขยายธุรกิจที่เชี่ยวชาญและแสวงหาธุรกิจใหม่ นวัตกรรมวัสดุและพลังงานที่ยั่งยืน ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero สร้างสมดุลธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จ่ายเงินปันผลจากผลงานปี 67 หุ้นละ 0.01 บาท เป็นเงินประมาณ 204 ล้านบาท
นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ปี 2567 เศรษฐกิจโลกมีความท้าทายและผันผวน IRPC เร่งปรับตัวและสร้างการเติบโตด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงาน ลดต้นทุน บริหารจัดการลงทุนทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมสร้างความปลอดภัยประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาบุคลากร พร้อมคว้าโอกาสจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ด้วยนวัตกรรมวัสดุพลังงานตอบโจทย์เมกะเทรนด์ และ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
นายเทอดเกียรติ กล่าวว่า IRPC สามารถสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มผ่านโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ซึ่งเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 โดยผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 และน้ำมันอากาศยาน Jet A-1 ตามมาตรฐานสากล JIG (Joint Inspection Group) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก บริษัทฯ ได้ดำเนินการรับมือกับ วัฏจักรปิโตรเคมีที่ชะลอตัว โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดพิเศษ (Specialty Products) เพิ่มขึ้น 36% เพื่อตอบสนองตลาดที่มีศักยภาพสูง อาทิ บรรจุภัณฑ์ การแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มกำลังการผลิต Floating Solar เฟส 2 อีก 8.5 เมกะวัตต์ และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนที่ดินของบริษัทฯ เพื่อสร้างรายได้และเสริมศักยภาพด้านพลังงานสะอาดในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนของราคาพลังงาน ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงทั้งจากอุปทานล้นตลาดจากกำลังการผลิตใหม่ ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคปรับตัวลดลง กระทบต่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิจำนวน 281,711 ล้านบาท ลดลง 6%จากปีก่อน โดยมีสาเหตุจากปริมาณขายลดลง 4% และราคาขายเฉลี่ยลดลง 2% ตามราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยลดลง จากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรปที่ชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้ง ในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 2,496 ล้านบาท หรือ 0.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่มีการกลับรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับ (กลับรายการ NRV) 953 ล้านบาท หรือ 0.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง (Realized Oil Hedging) 879 ล้านบาท หรือ 0.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ รวม 664 ล้านบาท หรือ 0.25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 17,691 ล้านบาท หรือ 6.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 3% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 4,476 ล้านบาท ลดลง 1,278 ล้านบาท หรือลดลง 22%
นอกจากนี้ บริษัทฯ บันทึกค่าเสื่อมราคาจำนวน 9,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน เป็นผลจากสินทรัพย์ที่เพิ่มจากโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนเม.ย. 2567 ประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินสุทธิจำนวน 2,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามตลาด
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีกำไรจากการลงทุนจำนวน 989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ที่เริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายที่ดินตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,193 ล้านบาท มากกว่าปี 2566 ที่ 78%
สำหรับผลดำเนินงานไตรมาส 4/2567บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 63,037 ล้านบาท ลดลง 6,927 ล้านบาท หรือ 10%จากไตรมาสก่อน บริษัทฯ มี EBITDA จำนวน 3,200 ล้านบาทพลิกจากผลขาดทุน EBITDA 4,843 ล้านบาท โดยบันทึกค่าเสื่อมราคา 2,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% บันทึกขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์จำนวน 406 ล้านบาท จากค่าเงินบาทอ่อนค่า บันทึกขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน 694 ล้านบาท และขาดทุนจากการด้อยค่าและตัดจำหน่ายทรัพย์สินจำนวน 652 ล้านบาท โดยหลักมาจากบันทึกด้อยค่าเงินลงทุนของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมส่งผลให้ในไตรมาส 4 บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 1,125 ล้านบาท น้อยกว่าไตรมาส 3/2567 ที่ 77%
ส่วนแนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมี ปี 2568 อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงเผชิญภาวะอุปทานล้นตลาดจากกำลังผลิตใหม่ในจีน ขณะที่ ความต้องการเติบโต 1-3% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายต้องบริหารกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารและเทคโนโลยีที่เติบโตดี ส่วนสินค้าคงทน เช่น บ้านและรถยนต์ เติบโตต่ำจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว ปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ที่อาจกระทบเศรษฐกิจจีน ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบผันผวน และข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเตรียมบังคับใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและห่วงโซ่การผลิต ผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับกฎเกณฑ์ใหม่
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่ยั่งยืน โดยได้รับรางวัลและการรับรองทั้งในระดับประเทศและสากล เช่นได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining and Marketing และบริษัทฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรเอกชนรายแรกและรายเดียวในประเทศที่ได้รับรางวัล “ดีเด่นระดับ GOLD” องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทองค์กรธุรกิจ ประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ระดับดีเลิศ (Excellent CG Scoring Company) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD)
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ในอัตรา 0.01 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 204 ล้านบาท กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 เม.ย.2568 หลังจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 2เม.ย. นี้