HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมจับมือภาคเอกชนหารือภาษีลงทุนจูงใจสถาบันย้ายจากพันธบัตร ตราสารหนี้เข้าตลาดหุ้น เตรียมจัดโชว์เคสหุ้นเติบโตนักลงทุนต่างชาติ เร่งเดินเครื่องโครงการจั๊มพ์พลัส พร้อมตอกย้ำพื้นฐานด้านปันผลดีสุดในภูมิภาค ดันความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วน
วันจันทร์ที่ 10 ก.พ.ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,270.49 จุด ติดลบ 11.60 จุด ผู้นำตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็เข้าใจว่า “หุ้นลงไม่มีใครชอบ” ซึ่งจากงานแถลงข่าวสรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนม.ค.2568 โดยนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ ตลท. และดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลท.พอจะ”จับทิศทางตลาดหุ้นไทย นับจากวันนี้ จะไปไงต่อ?”
หนึ่ง ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เรื่องภาษีลงทุนในหุ้น เพื่อนำไปหารือกับกระทรวงการคลัง ในการดึงเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบันให้เข้ามาลงในหุ้น จากที่ผ่านมากองทุนต่างๆ เช่น กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thai ESG ที่มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากในช่วงปลายปี 2567 แต่ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในพันธบัตร และตราสารหนี้
“หุ้นลงไม่มีใครชอบ เราก็พยายามเต็มที่ แต่ตลท.จะมองที่ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรือ Under Value ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เริ่มจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นคืนอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการที่จะทำให้กองทุนเข้ามาลงทุนในหุ้น ก็มองเรื่องภาษี แต่เรื่องนี้มีหลายมุมมอง เช่น ลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในหุ้น จะทำอย่างไร โดยกำลังศึกษากันอยู่ จะเน้นความเหมาะสมเพื่อสร้างคุณค่าให้ได้มากที่สุด”นายอัสสเดช กล่าว
สอง ทำการโรดโชว์ให้นักลงทุนต่างประเทศ เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวดีๆ ของบริษัทจดทะเบียนไทย (Good Story) ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น เป็นซุปเปอร์สตาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างวางแผนโรดโชว์ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ เช่น กลุ่มเฮลท์แคร์ไทย ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในภูมิภาค รวมถึง อัตราการเติบโตของรายได้ (Earnings Growth) หากตัดกลุ่มน้ำมันออกไป ยังเติบโตดี
สาม การยกระดับพื้นฐานบริษัทจดทะเบียน ภายใต้โครงการจั๊มพ์พลัส (Jump Plus)ในหุ้นกลุ่มน้ำดี เพื่อปรับปรุงมูลค่าหุ้นให้เพิ่มสูงขึ้น เช่นที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เคยทำประสบความสำเร็จมาแล้ว
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นมาได้ จากการทำ จั๊มพ์พลัส ทำให้พื้นฐานของหุ้นเข้มแข็งขึ้น”ดร.ศรพล กล่าว
สี่ จะทำการตอกย้ำความแข็งแกร่งของหุ้นปันผลไทย ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่สุดในเอเชียหลังหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% ณ สิ้นเดือนม.ค.2568 เท่ากับตลาดหุ้นจีน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย แม้จะมีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง แต่ถ้าหักเงินเฟ้อแล้ว อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงต่ำกว่าไทย เพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำ
“หุ้นหลายบริษัทยังมีรายได้เติบโต และจ่ายปันผลสม่ำเสมอ สำหรับนักลงทุนระยะยาวถือว่า หุ้นปันผลน่าสนใจ เพราะได้อัตราผลตอบแทน 3% กว่าก็สูงกว่าฝากเงิน”ดร.ศรพล กล่าว
ทั้งนี้ต้องรอติดตามว่า เรื่องเร่งด่วนไหนใน 4 แผนที่จะเข้ามากอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ และเรื่องไหนจะเกิดก่อนกัน แม้ปัจจุบันอัตราการเติบโตของรายได้ (Earnings Growth)ของบริษัทจดทะเบียนไทย กำลังไต่ขึ้นตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) แต่ยังไม่แรงพอต่อการดึงดูดนักลงทุน โดยดัชนีหุ้นไทยไหลลงแรงกว่าภูมิภาค เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกา กำลังเลือกเฟ้นอยู่ว่าจะขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศใดอีก ซึ่งไทยอยู่ลำดับ 10 ที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ