บล.กสิกรฯ มีลุ้น 1,300 อีกครั้ง สัปดาห์หน้าแกว่งตาม 4 ปัจจัย

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับที่ 1,250 และ 1,235 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,300 และ 1,310  แนะนำให้ติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟด-กำไรบจ.-นโยบาย’ทรัมป์’-ฟันด์โฟลว์ ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-34.00 บาทต่อดอลลาร์ 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (10-14 ก.พ. 2568) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,250 และ 1,235 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,300 และ 1,310 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของบจ.ไทย นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์)

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. 2568 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 2567 และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. 2568 ของญี่ปุ่น ตลอดจนยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเดือนม.ค. 2568 ของจีน

ในวันศุกร์ที่ 7 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,282.09 จุด ลดลง 2.47% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 48,831.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.12% ส่วนดัชนี mai ลดลง 5.93% ปิดที่ระดับ 262.44 จุด

ตลาดหุ้นไทยปิดลบต่อเป็นสัปดาห์ที่สาม โดยปรับตัวลงแรงช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลว่าสงครามการค้าจะทวีความรุนแรง หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโกและจีน ซึ่งมีผลวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา (แม้ในเวลาต่อมาจะเลื่อนการเก็บภาษีแคนาดาและเม็กซิโกออกไป 30 วัน) และจีนก็ได้ออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน ปัจจัยลบดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดแรงขายหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

ดัชนีหุ้นร่วงลงต่อเนื่องในระหว่างสัปดาห์ โดยมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง หลังตลท. มีแนวคิดที่จะกำหนดให้หลักทรัพย์รายตัวที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี SET50, SET50FF, SET100 SET100FF มีน้ำหนักไม่เกิน 10% เพื่อลดอิทธิพลของหุ้นขนาดใหญ่ต่อดัชนี

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายของตลาดหุ้นในภาพรวมยังมีปัจจัยกดดันจากการที่หุ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่แห่งหนึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการซื้อกิจการคืน ประกอบกับน่าจะมีแรงขาย LTF ที่ครบกำหนดที่เข้ามาเป็นปัจจัยลบของตลาดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นลดช่วงลบได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์หลังจากร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี 3 เดือนที่ 1,252.26 จุด โดยมีแรงหนุนจากหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานจากประเด็นการจ่ายเงินปันผล รวมถึงแรงซื้อคืนหุ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่โดนเทขายอย่างหนักก่อนหน้านี้

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10-14 ก.พ. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.10-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ในวันศุกร์ที่ 7 ก.พ. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.65 บาท เทียบกับระดับ 33.67 บาท  ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 ม.ค.)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-7 ก.พ. 2568 นั้นซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,493.4 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 6,231.8 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 6,291.8 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 60 ล้านบาท)

เงินบาทปรับตัวผันผวนในกรอบประมาณ 33.50-34.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามประเด็นข่าวภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาติซึ่งอยู่ในฝั่งขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตรไทย และการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับแคนาดา เม็กซิโก และจีน

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่ากลับมาช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังสหรัฐฯ เลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ากับแคนาดาและเม็กซิโกออกไป 30 วัน ประกอบกับจีนได้ประกาศมาตรการทางภาษีกับสหรัฐฯ (มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการเพิ่มในอัตรา 10-15%) นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาทองคำในตลาดโลกซึ่งมีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ