แรงขาย LTF ชะลอ AUM เหลือ 1.88 แสนลบ. ลุ้นคลังคืนชีพช่วยขับเคลื่อนหุ้นไทย

HoonSmart.com>> นายกสมาคมจัดการลงทุน (AIMC) ชี้แรงขาย LTF ของนักลงทุนเริ่มชะลงจากต้นปี 68 ม.ค.ขายออก 2 หมื่นล้านบาท ด้านมูลค่าทรัพย์สิน (AUM) กองทุนลดเหลือต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท อยู่ที่ 1.88 แสนล้านบาท มองคลังเล็งฟื้น LTF กลับสู่ระบบเป็นโอกาสให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นผ่านกองทุนภาษี หนุน Sentiment ตลาด เป็นอีกหนึ่งปัจจัยช่วยขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทย

“HoonSmart” สำรวจ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” (LTF) ในปี 2568 นี้ นักลงทุนสามารถขายหน่วยลงทุนออกได้ทั้งหมด หลังถือครองตามเกณฑ์กำหนด ส่งผลให้เดือนม.ค.2568 มีแรงขายกองทุน LTF ในตลาดหุ้นไทยอย่างหนัก เป็นหนึ่งปัจจัยฉุดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จากข้อมูลสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ของกองทุน LTF ณ วันที่ 31 ม.ค.2568 ลดลง 31,432.38 ล้านบาท หรือ -14.30% จากสิ้นปีที่ผ่านมาลงมาอยู่ที่ 188,428.12 ล้านบาท

ทั้งนี้ มูลค่า AUM ที่ลดลงไม่ได้มาจากการขายคืน LTF ทั้งหมด แต่เกิดจากราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจึงส่งผลต่อมูลค่าหุ้นในพอร์ตของกองทุน

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเศไทย) เผยเงินไหลออกสุทธิกองทุน LTF ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาราว 1.9 หมื่นล้าน โดยไหลออกจาก 5 บลจ.รวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นบลจ.บัวหลวง 5.1 พันล้านบาท, บลจ.กสิกรไทย 4.1 พันล้านบาท บลจ.กรุงศรี 2.7 พันล้านบาท บลจ.ไทยพาณิชย์ 2.2 พันล้านบาทและบลจ.ยูโอบี 1.6 พันล้านบาท

 

ชวินดา หาญรัตนกูล

 

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานนะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมแรงขาย LTF ของนักลงทุนเริ่มชะลอลง จากต้นปีขายออกมามากตลอดเดือนม.ค.2568 ยอดประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มูลค่า AUM กองทุนลดลงต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

“ตลาดหุ้นไทยปีนี้มองเป็นจิตวิทยา Sentiment ในการลงทุน ถ้าทุกคนมองไปทางเดียวกันว่าหุ้นไม่ไปไหน ตลาดก็จะนิ่งๆ ในส่วนของผู้จัดการกองทุนไม่ได้ใช้อารมณ์ในการลงทุน ใช้เหตุผลในการลงทุน ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วมูลค่าต่ำและมีเหตุผลในการลงทุนเราก็เข้าลงทุน แต่เราไม่ใช่เป็นองค์ประกอบเดียวของตลาด ยังมีนักลงทุนรายย่อย รวมถึงการขาย LTF ของนักลงทุนที่ทำให้ตลาดกลัวแรงขายจะมากกว่าแรงซื้อ “นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าว

อย่างไรก็ตามมองว่าหากดัชนีปรับตัวลดลงต่ำเกินไป นักลงทุนก็ชะลอขาย LTF หากไม่ต้องการรีบใช้เงินจนกว่าตลาดอยู่ในสภาวะเหมาะสม ยกเว้นนักลงทุนที่ต้องการใช้เงิน หรือขายตามคำแนะนำของ Influencer หรือขายและมาซื้อกองทุนลดหย่อยภาษีประเภทอื่นต่อ เพื่อบริหารจัดการเงิน

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงการฟื้น LTF กลับมาในระบบมองว่าเพียงหนึ่งปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทย แต่การที่ตลาดหุ้นจะไปต่อได้ยังต้องติดตามผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยออกมา ซึ่งจะช่วยคลี่คลายบรรยากาศลงทุน จากก่อนหน้าที่กลุ่มแบงก์รายงานกำไรเติบโตดี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตแม้นักท่องเที่ยวจีนไม่ได้เข้ามามากนักและกระทรวงการคลังคาดการณ์ GDP ปีนี้จะเติบโต 3.5% ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้น

“สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสมาคม AIMC อยู่ระหว่างรอกำหนดวันเข้าพบรมว.คลัง เพื่อหารือประเด็น LTF ซึ่งหากให้นำกลับมาขายใหม่ได้และจะเห็นผลต่อตลาดได้เร็ว คือการใช้กอง LTF เดิมซึ่งจะตอบโจทย์ได้มากที่สุดและเป็นโอกาสของนักลงทุน แต่ต้องรอดูคลังซึ่งบริหารรายได้ของประเทศว่าเห็นควรอย่างไร เป็นจังหวะที่เหมาะสมหรือไม่ และยังมองว่า LTF มีพลังขับเคลื่อนหุ้นไทยมากกว่ากองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เพราะ LTF ลงทุนในหุ้นไทยล้วน” นางชวินดา กล่าว

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เผย ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก เปรียบเทียบผลตอบแทนหุ้นทั่วโลก 92 ดัชนี พบว่าปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 5 ก.พ.2568 ตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับตัวลงมาแรงสุดในโลก -8.01% , รองลงมา คูเวต -5.7% , เลบานอน -5.3% ,มาเลเซีย -4.1% , ฟิลิปปินส์ -3.6%

ส่วนหนึ่งที่กดดันให้ดัชนี SET ลงมาแรงและเร็วคือแรงขายจาก LTF ที่เร่งตัวออกมา สะท้อนได้จากข้อมูลสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ยอด LTF ในเดือนม.ค. 2568 ลดลง 3.14 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.88 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี (เฉลี่ย 10 ปี เดือนม.ค. AUM ลดลง 8 พันล้านบาท)

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนรวมลดหย่อนภาษี นอกเหนือจากกองทุน LTF ที่มูลค่าลดลงมากในเดือนม.ค.2568 แล้ว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายทั้งในและต่างประเทศมีมูลค่า 453,802 ล้านบาท ลดลง 4,570 ล้านบาท หรือ -1% โดยRMF ส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้สูงสุด 156,237 ล้านบาท มีเงินลงทุนในหุ้น 107,576 ล้านบาท มูลค่าลดลง 7,044 ล้านบาท หรือ -6.15% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และลงทุนหุ้นต่างประเทศ 103,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,682 ล้านบาท หรือ 3.69%

ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายทั้งในและต่างประเทศเช่นเดียวกัน แต่ต่างกับ RMF ที่เงื่อนไขการลงทุนและระยะเวลาถือครอง มีมูลค่า 70,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,014 ล้านบาท หรือ 1.46% โดย SSF ลงทุนในหุ้นไทยมูลค่า 17,531 ล้านบาท ลดลง 1,124 ล้านบาท หรือ -6.03% ขณะที่ SSF ลงทุนหุ้นต่างประเทศ 32,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,928 ล้านบาท หรือ 6.36%

กองทุน ThaiESG ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ยั่งยืน มูลค่าอยู่ที่ 32,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,600 ล้านบาท หรือ 8.79% ลงทุนอยู่ในหุ้นไทย มูลค่า 11,085 ล้านบาท ลดลง 677 ล้านบาท หรือ -5.75% โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในตราสารหนี้ 17,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,056 ล้านบาท หรือ 21.88%

———————————————————————————————————————————————————–