ต่างชาติแห่ซื้อบอนด์ไทยมองดบ.ลงเร็ว นายกฯยันไม่ก้าวก่าย-ธปท.นัดแถลง 15 ม.ค.

HoonSmart.com>>สมาคมตราสารหนี้ไทยเปิดข้อมูลซื้อขาย 10 ม.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 14,361 ล้านบาทส่วนหนึ่งแห่ประมูลพันธบัตร 30,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี ถึง 3 เท่า และอายุ 30 ปี มากกว่า 3.56 เท่า ตลาดคาดธปท.อาจปรับลดดอกเบี้ยลงเร็ว ‘อริยา’เผยยังเร็วเกินไปสรุปฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทย ด้านนายกฯเผยผลคุยผู้ว่าธปท. ยันไม่ก้าวก่าย ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยนัดเปิดแนวคิดนโยบาย 15 ม.ค.นี้ ศึกนี้ทำค่าเงินบาทอ่อนหนัก 35.20 บาท/ดอลลาร์ ก่อนฟื้นปิด 34.95 บาท หุ้นแบงก์ร่วงยกแผงกลัวใบสั่งลดดอกเบี้ยและถูกต่างชาติดาวน์เกรด

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงานการซื้อขายตราสารหนี้ประจำวันที่ 10 ม.ค. 2567 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 72,846 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 14,361 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 9,233 ล้านบาท และกลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 100 ล้านบาท

ส่วน Yield Curve ลดลงจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.02%-0.05% ในทิศทางเดียวกับผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลในวันนี้รุ่น LB293A อายุ 5 ปี วงเงิน 30,000 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.4029% ต่ำกว่า Yield ตลาดของวันก่อนหน้า 0.04% โดยมีผู้สนใจยื่นประมูล 3 เท่าของวงเงินประมูล และรุ่น LB556A อายุ 30 ปี วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนของผลประมูลอยู่ที่ 3.5225% ต่ำกว่า Yield ตลาดของวันก่อนหน้า 0.03% โดยมีผู้สนใจยื่นประมูล 3.56 เท่าของวงเงินประมูล เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย((ธปท.) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ หลังจากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่สวนทางกับภาวะเงินเฟ้อต่ำ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ด้านน.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า แรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนหนึ่งมาจากผลของการประมูลพันธบัตรที่เป็น benchmark อายุ 5 ปี มูลค่า 30,000 ล้านบาท ในวันนี้  และการซื้อสุทธิจำนวนมากถึง 14,361 ล้านบาทในช่วงต้นปี ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเป็นการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ (ฟันด์โฟลว์) จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างชาติเริ่มเข้ามาซื้อตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย และตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับดอกเบี้ยลงในปีนี้  หลังจากปรับขึ้นอย่างมากทำให้เกิดส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐกว้างมากถึง 3.00%

เศรษฐา ทวีสิน

สำหรับการหารือระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยสูงจนกระทบต่อทุกภาคส่วน  โดยนายเศรษฐากล่าวภายหลังหารือ ว่า ได้มีการพูดคุยเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีอำนาจเข้าไปก้าวก่าย เพราะ ธปท. เป็นองค์กรอิสระ และเป็นการพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล มีการอธิบายถึงสถานการณ์ตลาดปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งภาคธุรกิจต่างๆ, ความเดือดร้อนของประชาชนในด้านหนี้สิน ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท. ได้บอกได้ทราบว่าขณะนี้ ธปท.กำลังดำเนินการอะไรอยู่บ้าง เช่น การแก้ไขหนี้สินระยะยาว

นายกรัฐนตรียังกล่าวถึงปัญหาหุ้นกู้หลายตัวที่เริ่มผิดนัดชำระว่า ได้สั่งการให้มีการดูว่า หุ้นกู้ที่ระดับต่ำกว่า Investment Grade ต้องไปพูดคุยว่าจะทำอย่างไรบ้าง

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมจัดงาน BOT Policy Briefing : เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ ในวันที่ 15 ม.ค.2567 โดยนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน นางสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่ากกร. ยังเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่สูง หวังว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ถ้าเฟดปรับลงเมื่อไร ก็ควรจะทำทันที คาดว่าไตรมาสที่ 2/2567

สถานการณ์มองต่างมุมเรื่องดอกเบี้ยของทางรัฐบาลและธปท.ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปต่ำสุดถึง 35.20 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นกลับมาปิดที่ 34.95 บาท/ดอลลาร์ ขณะเดียวกันหุ้นธนาคารพาณิชย์ก็ปรับตัวลงลงหนัก  รวมถึงถูกสถาบันการเงินสหรัฐ”โกลด์แมน แซคส์”ปรับลดคำแนะนำ (Downgrade)

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นรับแรงขายจากหุ้นในกลุ่มแบงก์ เนื่องจาก”โกลด์แมน แซคส์”ได้ Downgrade กลุ่มแบงก์ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก”บลูมเบิร์ก (Bloomberg)”   เช่น หุ้น BBL ปรับลดคำแนะนำจาก”เป็นกลาง”มาเป็น”ขาย”พร้อมลดราคาเป้าหมายจาก 190 บาท เป็น 164 บาท หุ้น SCB แนะนำ”ขาย”เหมือนเดิม แต่ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 106 บาท เป็น 101 บาท หุ้น KBANK แนะนำ”ขาย”เหมือนเดิม แต่ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 132 บาท เป็น 128 บาทหุ้น KTB แนะนำ”เป็นกลาง”เหมือนเดิม แต่ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 21.80 บาท เป็น 20.80 บาท หุ้น TTB แนะนำ”ซื้อ”เหมือนเดิม แต่ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 1.99 บาท เป็น 1.94 บาท

ก่อนหน้านี้”บล.ยูบีเอส” ปรับลดอันดับธนาคารไทยเป็นสองเท่าจากน้ำหนักมากกว่าตลาดเป็นต่ำกว่าหุ้นอาเซียน  ความเสี่ยงยังคงอยู่เกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์และต้นทุนทางการเงิน