“ยูโอบี”เดินหน้าดึงเงินลงทุน FDI ลงอีอีซี คาดปี’70 เข้าอาเซียน 3.12 แสนล.เหรียญ

HoonSmart.com>>ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จับมือ อีอีซี ดึงลูกค้าลงทุนในไทย-อาเซียน ตั้งเป้าปี’70 คาด FDI ไหลเข้าภูมิภาค 3.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง หลัง 5 ปีดึงลูกค้าลงทุนไทยกว่า 450 บริษัท เม็ดเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท

นายริชาร์ด มาโลนี่ย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ผ่านเครือข่ายธนาคารยูโอบี ที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยนับตั้งแต่ปี 2563 ธนาคารได้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนลูกค้าธนาคารในการลงทุนในประเทศไทยไปแล้ว 450 บริษัท จำนวนเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 3.1 หมื่นตำแหน่ง และหากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือจำนวน 5,000 บริษัท

ความร่วมมือครั้งนี้ จะครอบคลุมแคมเปญส่งเสริมการลงทุน การจัดโรดโชว์สำหรับนักลงทุน และการสนับสนุนผ่านหน่วยงานที่ปรึกษาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIA) ของธนาคาร แสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยนักลงทุนในไทย ในภูมิภาค และระดับนานาชาติ จะได้รับโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจร เพื่อให้ไทยเป็นเป็นศูนย์กลางชั้นนำด้านนวัตกรรมและการพัฒนาในภูมิภาคนี้ต่อไป


ปี’70 สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง

นายแซม ชอง กรรมการผู้จัดการ, Head of Foreign Direct Investment Advisory Unit ธนาคารยูโอบี เปิดเผยว่า ธนาคารจะเป็นช่องทางในการแนะนำนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีคุณภาพขยายการลงทุนจากสิงคโปร์เข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ใน 5 อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านต่างๆ ซึ่งล้วนมีจุดแข็งที่น่าจะสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนได้ โดยปัจจุบัน ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ เป็นอันดับ 1 ที่มีเงินลงทุนทางตรงจากนักลงทุนต่างประเทศ (FDI) 159 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงินลงทุนในไทยปี 2567 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 34% ซึ่งในฐานะที่ธนาคารเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนครบวงจร จะมีการแนะนำการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น

“คาดว่าในปี 2570 ธนาคารคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนราว 3.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ 2.26 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถสร้างงานให้กับภูมิภาคนี้ประมาณ 1 ล้านตำแหน่ง โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุน FDI เข้ามาในไทยและภูมิภาคมีมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำให้นักลงทุนกล้าตัดสินใจในการลงทุนมากขึ้น โดยธนาคารยูโอบี จะเป็นมากกว่าธนาคาร หรือ Beyond Banking”นายแซม ชอง กล่าว

นายแซม ชอง กล่าวว่า ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุน FDI เข้ามาในไทยในปี 2568 เป็นจำนวนเท่าไหร่ ใน 5 อุตสาหกรรมที่ทางอีอีซีสนับสนุนนั้น แต่สามารถบอกจุดแข็งที่ไทยได้เปรียบที่มีโอกาสสูงที่จะดึงดูดการลงทุนทางตรงได้มากขึ้น เพราะมีจุดแข็งที่ชัดเจนสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมภาคบริการ เป็นที่ยอมรับถึงความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านนี้ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่พูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นแต่จะเป็นเรื่องที่จะอยู่ต่อไปอีก 200 ปีข้างหน้า ที่มีการพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไร้คนขับ และไทยถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์มายาวนาน
ด้านพลังงานสะอาด นับเป็นจุดที่มีความได้เปรียบในการผลิตพลังงานทดแทนใหม่ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่เทคโนโลยีด้านเอไอกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนและเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ก้าวไปข้างหน้า รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยธนาคารพร้อมจะสนับสนุนลูกค้า ทั้งข้อมูลในการตัดสินใจในการลงทุน ภายใต้เครือข่ายพันธมิตรของธนาคารที่มีอยู่ทั่วภูมิภาค และการสนับสนุนโชลูชั่น ทางการเงิน

ปี’68 กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์นำ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การลงทุนในอีอีซีปี 2568-2569 จะมีการลงทุนในกลุ่มอิเล็กทรอนิคส์มากกว่ากลุ่มอื่น ทั้งเซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนปี 2567 ที่ผ่านมาจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ พอปี 2568 เริ่มแผ่ว แต่มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์กำลังเข้ามา ทั้งอะไหล่ แบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟฟ้าเข้ามาเสริม

ผลจากการที่จีนมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆในอาเซียน ถือว่าเป็นช่วงน้ำขึ้นที่ต้องรีบสูบ เพราะถ้าไม่สามารถดึงเงินลงทุนเข้ามาในไทยได้ภายใน 1 ถึง 2 ปีนี้ จะต้องรอไปอีกยาวที่จะมีการลงทุนใหญ่ๆ แบบนี้ แต่การลงทุนในอาเซียน แต่ละประเทศจะมีความเข้มแข็งที่แตกต่างกัน

ทางอีอีซี จะเน้นดึงการลงทุนที่สนับสนุนการเติบโตแก่เศรษฐกิจในระยะยาว เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนไทย ธุรกิจที่ไทยสามารถไปต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้อีกจำนวนมาก ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเป็นสินค้า และ ภาคบริการที่ให้บริการต่างๆ จึงได้มุ่งที่ 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย ยานยนต์ยุคใหม่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียวและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ สามารถต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมาก เพราะเป็นเรื่องของการป้องกันการเจ็บป่วย และ การรักษา อีกหนึ่งคืออุตสาหกรรมดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ทุกคนและธุรกิจเอกชนใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงรถยนต์ พลังงานสะอาด ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องไปถึงเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งภาคบริการไทยมีความชำนาญจึงอยากให้เกิดการลงทุนภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตที่เราอาจสู้เพื่อนบ้านไม่ได้”นายจุฬา กล่าว

สำหรับ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก และนโยบายที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างปัจจัยบวกให้ไทย โดยนักลงทุนจะได้รับบริการธนาคาร คำแนะนำด้านการลงทุนที่ครอบคลุมทุกมิติ และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ เป็นต้น