เงินเฟ้อธ.ค.หดตัว 0.83% มากกว่าตลาดคาด ค่าน้ำมัน-ค่าไฟต่ำ

HoonSmart.com>>เงินเฟ้อเดือนธ.ค.หดตัว 0.83% ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.64  รวมทั้งปี 66 โตเฉลี่ย 1.23%  คาดต้นปี 67 หดตัวต่อเนื่อง ม.ค.มีโอกาสติดลบ แต่ยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค.2566 อยู่ที่ 106.96 ลดลง 0.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดคาดว่าจะติดลบ 0.35-0.40% ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.23%

ทั้งนี้เงินเฟ้อเดือน ธ.ค.หดตัวตัวต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ธ.ค.อยู่ที่ 104.58 เพิ่มขึ้น 0.58% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.27%

เงินเฟ้อยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานลดลง ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผักสดราคาลดลงค่อนข้างมาก สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.58%

ราคาสินค้าและบริการ หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.00% ตามการลดลงของราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร จากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 และค่าโดยสารรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น) และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลบางรายการราคาปรับลดลง (ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องถวายพระ บุหรี่ สุรา และเบียร์ ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 0.63% ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ผักสด (ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง) และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส ซอสหอยนางรม) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ผลไม้สด (ทุเรียน ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า) รวมทั้งกาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย

“ราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ในเดือนธซเพิ่มขึ้น 274 รายการ คงที่ 49 รายการ และปรับลดลง 107 รายการ” นายพูนพงษ์ กล่าว

ข้อมูลล่าสุดเดือน พ.ย.2566 อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.44% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว

ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 ที่ 1.23% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในช่วง 1.0-1.7% ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.35%  โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด ทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ ผักและผลไม้ จากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ระดับสูง และพืชผักบางชนิดเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวดี มีส่วนทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบ รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ราคายังอยู่ระดับสูงกว่าปี 2565 แต่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร และน้ำมันพืช ตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำมันเชื้อเพลิง จากมาตรการของภาครัฐและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ในเดือนม.ค.มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม แต่ยังไม่อยู่ในจุดที่เกิดภาวะเงินฝืด

เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย  ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง  ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มลดลง และ มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น

“คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 67 อยู่ระหว่าง -0.3% ถึง 1.7% ค่ากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า จีดีพีปี 67 จะขยายตัว 2.7-3.7%”