SCB EIC มองดอกเบี้ยขึ้นเร็ว-ช้าขึ้นกับตัวเลขศก. 1-2 เดือนหน้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองตัวเลขเศรษฐกิจใน 1-2 เดือนข้างหน้า ชี้ชะตากนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนธ.ค.นี้หรือเดือนก.พ.ปี 62

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า การที่เสียงสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสสูงขึ้นที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในการประชุมเดือนธ.ค.หรือเดือนก.พ.มีสูงขึ้นพอสมควร เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยต้องการเสียงเพิ่มอีกเพียงหนึ่งท่านเท่านั้น

ที่สำคัญ โทนของการสื่อสารของ กนง. ในครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการสื่อสารในช่วง 1-2 ครั้งหลังที่มองว่า ความจำเป็นของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากมีน้อยลงจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องแม้จะมีความเสี่ยงด้านต่ำ เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ และความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม โอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนธ.ค. และการประชุมเดือนก.พ.ยังคงใกล้เคียงกัน โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองและเป็นตัวกำหนดความเร็วช้าของการขึ้นดอกเบี้ย คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะออกมาในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีสัญญาณชะลอตัวลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หากตัวเลขออกมาใกล้เคียงกับที่คาดและไม่น่าจะกระทบต่อโมเมนตัมของการขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก และเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ก็เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ กนง. เสียงส่วนใหญ่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคม แต่หากตัวเลขการส่งออกหรือการท่องเที่ยวออกมาต่ำกว่าคาดมากจนกระทบต่อโมเมนตัมของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้ กนง. ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอประเมินแนวโน้มอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป

อีไอซีมองว่าวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สูงขึ้น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่สูง จะทำให้ กนง. ระมัดระวังในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกระทบต่อโมเมนตัมของเศรษฐกิจมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ NPL ในภาคครัวเรือนและ SMEs ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนั้น อีไอซี ประเมินว่า ธปท. จะไม่ใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่จะผสมผสานการใช้มาตรการ Macroprudential ควบคู่ไปด้วย ตามตัวอย่างมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่งออกมา ซึ่งจะทำให้ กนง. สามารถปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ครั้งละ 0.25% และจะพักการขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การประชุมกนง.วันที่ 14 พ.ย.2561 คณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่มองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 3 ท่านออกเสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% เนื่องจากความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ แต่มีความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน และต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้กล่าวถึงการใช้นโยบายการเงินในลักษณะพิงกระแสลม (leaning against the wind: LAW) เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาวิกฤตการเงินในอนาคต โดยอีไอซีมองว่า นโยบายในลักษณะดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่เร็วและมากขึ้นจะช่วยลดภาระของมาตรการ Macroprudential ที่ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการอยู่มากทั้งจากการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ไปยังกลุ่มสถาบันการเงินที่ถูกกำกับเข้มงวดน้อยกว่า และความยากลำบากในการออกแบบมาตรการได้เหมาะสมและทันเวลา ซึ่งการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจทางการเงินในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจซึ่งมาตรการ Macroprudential อาจเข้าไม่ถึง อย่างไรก็ตาม การมีหลายเป้าหมายจะทำให้นโยบายการเงินสื่อสารยาก ขาดความน่าเชื่อถือและอาจลดประสิทธิภาพกับการจัดการปัญหาเงินเฟ้อไปด้วย

สำหรับบริบทของไทย อีไอซีมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินในแบบ LAW นั้นมีประโยชน์มากกว่าต้นทุน และมีความเหมาะสม จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจาก 1) การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายมากกว่าหนึ่งเป้าหมาย ผลคือช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวกับปัจจัยที่เข้ามากระทบได้ค่อนข้างดี และหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตการเงินที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น ธปท. จึงมีประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าว และน่าจะสื่อสารเกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย ได้ดีต่อไป 2) โครงสร้างการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยมีลักษณะแบบแยกส่วนและมีความเหลื่อมล้ำของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทำให้การใช้มาตรการ Macroprudential มีข้อจำกัดอยู่พอสมควรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยมาเป็นเครื่องมือเสริม และ 3) ในช่วงปี 2016-2017 กนง. ได้ใช้หลักนโยบายการเงินแบบพิงกระแสลมในการอธิบายเหตุผลที่อัตราดอกเบี้ยไม่ถูกปรับลงเพิ่มเติม ซึ่งพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาก็ยืนยันความเหมาะสมของแนวทางนี้ได้ดีพอสมควร

อย่างไรก็ตาม แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงที่ แต่ภาวะการเงินของไทยเริ่มตึงตัวขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะระยะสั้นที่ปรับสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเดิมที่ 1.5% แต่ภาวะการเงินของไทยเริ่มตึงตัวขึ้น สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนฯ ระยะ 1 ปี ที่ปรับสูงขึ้นไปอยู่ที่ 1.74% ซึ่งเป็นผลจากมุมมองของนักลงทุนต่อการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า การปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น ส่วนอัตราผลตอบแทนฯ ระยะ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 2.82% ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีที่เคยอยู่ในระดับ 2.32% และเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 2.95% โดยการเพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยในบางช่วง และมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่ดี นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาก็มีความผันผวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น