“สาระ ล่ำซำ” ลั่นปี’68 ปักธงสีบานเย็นทั่วไทย ชูกลยุทธ์”เพิ่มความสุขของคุณด้วยคนของเรา”

HoonSmart.com>>”สาระ ล่ำซำ” ซีอีโอ เมืองไทยประกันชีวิต ประกาศปักธงสีบานเย็นบานสะพรั่งทั่วไทย ภายใต้กลยุทธ์ “เพิ่มความสุขของคุณด้วยคนของเรา”ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าด้วยบริการแบบไร้รอยต่อ ลั่นปี’68 เบี้ยรวมต้องมากกว่าปี’67 ที่ทำได้ 7.18 หมื่นล้านบาท ปลื้มแบบ Shield Life แรงพุ่ง 42% ขีดเส้น 20 มี.ค.นี้ใช้ Copayment กับลูกค้าใหม่

บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต (MTL) เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2494 แปลสภาพเป็นบริษัทมหาชน ในปี 2555 และปี 2568 นี้ เป็นปีที่ นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ครบรอบ 55 ปี พอดี และเป็นปีที่ 32 ของชีวิตการทำงานที่บริษัทดังกล่าว ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 กว่า 5,000 ล้านบาท มีลูกค้ารวม 3.8 ล้านราย และมีตัวแทนขายร่วม 2 หมื่นคน

บูสท์ความสุขทุกไลฟ์สไตล์

นายสาระ ล่ำซำ ได้ประกาศในงานแถลงนโยบายปี 2568 ว่าปีนี้ มีเป้าหมายที่จะทำให้ สีบานเย็นบานสะพรั่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสีที่สื่อถึงวันใหม่ที่สดใส หลังจากที่มีการทำรีแบรนด์ดิ้งเมืองไทยประกันชีวิตเป็นสีบานเย็นมาได้ 21 ปีแล้ว โดยจะยกระดับความสุขและรอยยิ้มให้ ลูกค้า พาร์ทเนอร์ พนักงาน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านผลิตภัณฑ์ บริการ และช่องทางการขายที่หลากหลาย สีบานเย็นจะรวมพลังกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อส่งมอบความสุขและรอยยิ้มให้ลูกค้าทุกคน ภายใต้กลยุทธ์ “Boost Your Happiness by Our People” หรือ “เพิ่มความสุขของคุณด้วยคนของเรา”

โดยจะเน้นการพัฒนาองค์กรทุกภาคส่วนในทุกมิติ เพื่อร่วมส่งมอบความสุขให้ลูกค้า บนแกนหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism & Expertise)ความโปร่งใสและความสะดวกสบาย (Transparency & Convenience) ความไว้วางใจและคำมั่นสัญญาระยะยาว (Commitment & Trust)

กลยุทธ์ข้างต้น ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์บริการแบบไร้รอยต่อ ( Seamless Experience)ผ่านพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิต ทั้ง ประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ และ ประกันชีวิตควบการลงทุน ในฐานะที่บริษัทฯเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการเติมเต็มเรื่องของการบริหารความเสี่ยง การออม การดูแลด้านต้นทุนค่าใชัจ่ายในยามเจ็บป่วยให้กับสังคมไทย

“ผมถือว่าเป็นซีอีโอที่แข็งแรงมาก supper strong ทั้งใจ และกาย แต่ก็เจ็บป่วย เพราะอายุที่มากขึ้น ในส่วนของเมืองไทยประกันชีวิต เรามีอายุ 73 ปีแล้ว เริ่มต้นสมัยโบราณ เราทำธุรกิจจากแนวคิด Inside Out เราเป็นคนคิดสินค้า บริการ และก็ปรับมาเรื่อยๆ ตามโลกที่เปลี่ยนไป เติมแนวคิดแบบ Outside In ฟังเสียงลูกค้าเป็นหลัก ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความลึกมากขึ้น มุ่งไปที่การออกแบบประกันให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ และต้องทำให้ Inside Out เดินหน้าไปกับ Outside In เพื่อให้ธุรกิจไปต่อไป”นายสาระ กล่าว

เงื่อนไข Copayment ใช้ 20 มี.ค.นี้

สำหรับ ประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขให้ลูกค้าต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่ารักษา หรือ Copayment นั้นจะเริ่มใช้ในวันที่ 20 มี.ค. 2568 นี้ โดยจะมีผลบังคับใช้เฉพาะกรมธรรม์ที่ออกใหม่ สำหรับลูกค้าใหม่เท่านั้น

ส่วนลูกค้าเก่าที่มีการต่ออายุจะไม่มีผลกระทบใดๆ จะไม่ให้เข้าเงื่อนไขดังกล่าว

เชื่อว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับบริษัทประกันและเป็นประโยชน์สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเคลม จะไม่ถูกปรับขึ้นเบี้ยทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อที่มีการปรับขึ้นปีละ 10-15% เป็นการยืดการปรับราคาเบี้ยประกันสุขภาพให้ยาวขึ้น

“มีเพียงลูกค้าที่มีการเคลมสูงตามเงื่อนไขของ Copayment เท่านั้นที่จะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาในปีที่ 2 ที่ 30-50% แต่ถ้าปีที่ 2 มีการเคลมลดลงไม่เกินเพดานที่กำหนด ก็จะหลุดจากเงื่อนไขของ Copayment ในปีที่ 3 คือ ถ้าเคลมไม่เกิน 200% ของเบี้ย และไม่เกิน 3 ครั้ง สำหรับโรคเล็กน้อย และเคลมไม่เกิน 400% ของเบี้ย และไม่เกิน 3 ครั้งของโรคทั่วไป ปีถัดไปก็ไม่ต้องร่วมจ่ายค่ารักษา บริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาตั้งแต่บาทแรก”นายสาระ กล่าว

นายสาระ มองว่า ตลาดประกันสุขภาพในปี 2568 ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความตระหนักในเรื่องสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น

ที่ผ่านมายอดขายประกันสุขภาพของบริษัทฯ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงได้เติบโตกว่า 24% โดยมีสัดส่วนใหญ่ของลูกค้าในพอร์ตเป็นกลุ่มที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แม้จะมีจำนวนคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น แต่เบี้ยต่อกรมธรรม์ยังต่ำอยู่ อาจเพราะรายได้ยังไม่มาก สัดส่วนจึงยังไม่มาก

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ จุดเด่น หรือ ฟีเจอร์ที่มี จะเน้นให้สามารถปรับแต่งความคุ้มครองได้ตามความต้องการ (Modular Design) สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบความคุ้มครองตามช่วงชีวิต (Convertible Option) และ เติมเต็มความคุ้มครองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น (Plus) โดยสามารถซื้อความคุ้มครองเฉพาะเพิ่มเติมได้ เพื่อให้ได้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม

พนักงานคุณภาพกับการบริการแห่งอนาคต

สำหรับ การบริการแบบไร้รอยต่อ จะมีการเพิ่มทักษะในด้านสำคัญด้าน การใช้ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในกระบวนการทำงาน (Data & AI Literacy) ความเชี่ยวชาญหลากหลายมิติ (Expert Knowledge และ Cross-Domain Expertise)ที่ขาดไม่ได้และสำคัญอย่างมากคือ ทักษะการสื่อสารและการบริหาร (Soft Skills) เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกัน เรียนเรียนรู้ร่วมกันได้ระหว่างคนรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันส่งมอบความสุขผ่านการวางแผนชีวิตที่ครอบคลุม ทั้งด้านการวางแผนการเงิน เกษียณ สุขภาพ และมรดก ผ่านช่องทาง ตัวแทน ธนาคาร ช่องทางออนไลน์ และ แอปพลิเคชัน MTL Click รวมถึง มีบริการหลังการขาย ผ่าน e-Payment และ e-Document เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

ยึด ESG -Net Zero Commitment

นายสาระ กล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิต ให้ความคุ้มครองแก่ลูกค้าระยะยาว จึง มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการ และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยยึดหลัก ESG ในการสร้างความสมดุลทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม (Environment)มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ภายในปี 2573
ด้านสังคม (Social) จะเดินหน้าผลักดันการเข้าถึงประกันภัย (Democratize Insurance) และให้ความรู้ด้านการเงินและการประกันภัยแก่ประชาชน (Financial & Insurance Literacy) พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน และบรรษัทภิบาล ( Governance)

นอกจากนี้ บริษัทฯจะมีการลงทุนในธุรกิจที่มีแผนการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยมีการวิเคราะห์แผนอย่างใกล้ชิดในการประกอบการตัดสินใจลงทุน ส่วนบริษัทที่มีการลงทุนอยู่แล้ว จะไม่ลงทุนเพิ่มเติม เพราะไม่สามารถที่จะขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไปได้ เนื่องจากบริษัทประกันชีวิต ต้องสร้างความสมดุลระหว่างสินทรัพย์ที่ลงทุน ผลตอบแทนจากการลงทุน ให้ได้ตามสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตที่ขายให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว

ปี’67 เบี้ยรวม 7.18 หมื่นล.

นายสาระ กล่าวว่า 21 ปีที่่ผ่านมาบริษัทมีการทำรีแบรนด์ดิ้ง โดยมุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย หรือ Multidistribution chanel จนถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์มาหลากหลายยุค ตั้งแต่ยุคที่ธุรกิจประกันชีวิตโดยรวมเติบโต 3 เท่าของตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) มาถึงยุค โต 2 เท่าของจีดีพี โตต่ำกว่าจีดีพี ถึงปัจจุบันโตติดลบเมื่อเทียบกับจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ประกันชีวิตก็ยังยืนหยัดมาได้ในทุกยุค ด้วยหลักการบริหารของธุรกิจประกันชีวิตที่ยึดผลตอบแทนให้ได้ตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า มีการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักสากล ไม่ว่าธุรกิจประกันโลกจะออกเกณฑ์อะไรมา ธุรกิจประกันชีวิตในไทยก็ใช้เกณฑ์เดียวกัน ล่าสุดในปี 2568 นี้ไทยจะต้องทำบัญชีตามมาตรการฐาน IFRS 17 ที่ต้องนำค่าใช้จ่ายของสินค้าแต่ละประเภท มาหักออกจากกำไรเป็นรายผลิตภัณฑ์ จะทำให้เห็นทันทีว่าสินค้าตัวไหน กำไร และขาดทุน

สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้เบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 71,800 ล้านบาท เติบโตจากปี 2566 อย่างแข็งแกร่ง (ปี 2566 มีเบี้ยรับรวม 70,978.11 ล้านบาท) โดยเฉพาะเบี้ยประกันภัยรับใหม่ที่เติบโต 13% จากสินค้าหลัก อย่าง Shield Life ที่ครอบคลุมทั้งแบบประกันตลอดชีพ แบบภายในระยะเวลาหรือเทอม และแบบยูนิเวอร์ซลไลฟ์ ที่ตอบโจทย์หลากหลายความต้องการ โต 42% ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง ในกลุ่มลูกค้ารายเดี่ยวโต 24% มีสินทรัพย์รวมกว่า 6.4 แสนล้านบาท อยู่อันดับ 2 ของธุรกิจ

ในด้านความมั่นคงทางการเงิน ปี 2567 บริษัทฯ ยังคงรักษาอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR Ratio) สูงถึง 350% (สูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนดไว้ที่ 140%) ในด้านกำไรถือว่ายังดี โดยรวมโตกว่าปี 2566 พร้อมได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงจากทั้ง S&P Global Ratings ที่ระดับ BBB+ และ Fitch Ratings ที่ระดับ A- และ AAA(tha)ด้านคะแนน Net Promoter Score (NPS) เพิ่มขึ้นจาก 58 คะแนนเป็น 75 คะแนน

ทั้งนี้ จากงบการเงิน 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน พบว่า ณ สิ้นเดือนก.ย. 2567 มีกำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวด 5,851.42 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 ที่มีกำไร 4,289 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 460.46 บาทต่อหุ้น เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่มีกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 428.97 บาทต่อหุ้น

อาเซียนกำลังเติบโต

นายสาระ กล่าวถึง การขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนามนั้น ยังคงมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง จากกลยุทธ์การลงทุนแบบร่วมลงทุน ซึ่งเป็นการรวมความความรู้ความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ กับบุคลากรในประเทศนั้นๆ ที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง

ประเทศแรกที่เข้าไปลงทุนคือ กัมพูชา ปัจจุบันอยู่อันดับ 2 ของธุรกิจประกันชีวิต และพยายามที่จะสร้างธุรกิจประกันวินาศภัยให้เติบโตด้วย

ประเทศที่ 2 คือ ลาว ปัจจุบันเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งเติบโตจากตัวแทน ส่วนที่เวียดนามมีความท้าทายสูงมาก เริ่มที่จะดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่องทางการขายผ่านธนาคาร อยู่อันดับ 2 ของธุรกิจ