SAWAD โตดีหนี้เสียหดกำไร 827 ล้าน ปีหน้ารุกธุรกิจเต็มสูบ

“ศรีสวัสดิ์” ไตรมาส 3/61 โชว์กำไรสุทธิ 827 ล้านบาท โต 24.4% พอร์ตลูกหนี้ทะลุ 2.6 หมื่นล้านบาท ดันรายได้ดอกเบี้ย 1.5 พันล้าน ด้านหนี้เสียลดเหลือ 4.4% ชี้หากไม่รวมรายการพิเศษปีก่อน กำไรโต 42% ลั่นปีหน้าปักธงรุกธุรกิจเต็มสูบ

น.ส.ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2561 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 827.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 162.51 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.44 % เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 664.85 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบเฉพาะกำไรจากธุรกิจหลัก ไม่นับรวมกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2560 กลุ่มศรีสวัสดิ์จะมีกำไรเติบโตกว่า 42 %


“แท้จริงแล้วไตรมาส 3/2561 กำไรจากธุรกิจหลักเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ในไตรมาส 3/2560 มีกำไรพิเศษเกิดขึ้น จึงทำให้ดูเหมือนว่ากำไรเราโตแค่ 24.44% ปัจจุบันผลการดำเนินงานเราเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ มีการควบรวมกิจการกับบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมตั้งรับกับหลักเกณฑ์ของทางการที่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยในปีหน้านี้กลุ่มศรีสวัสดิ์น่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจในเชิงรุก ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ประสิทธิภาพ”น.ส.ธิดา กล่าว

สำหรับภาพการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 3/2561 บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ย1,531.78 เพิ่มขึ้น 284.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.78% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้ดอกเบี้ย 1,247.56 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ดอกเบี้ยสะสม 9 เดือนสิ้นสุดเดือนก.ย.2561 จำนวน 4,159.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 471.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีกำไรสุทธิ 1,937.74 ล้านบาท

น.ส.ธิดา กล่าวต่อว่า รายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น 29.87% จากไตรมาส 3/2560 ที่มีพอร์ตลูกหนี้ 20,192.00 เพิ่มเป็น 26,223.21 ล้านบาทในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3/2561 ซึ่งก็เป็นผลมาจากการขยายสาขาเพิ่มขึ้นตามนโยบายของกลุ่มบริษัทที่ต้องการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินคลอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งสิ้น 2,740สาขา

สำหรับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)สิ้นสุดเดือนก.ย.2561 ได้ปรับลดลงเหลือ 4.40% จากไตรมาส 2/2561 บริษัทมีเอ็นพีแอล 4.74% ซึ่งเป็นผลมาจากระบบบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ตัวเลขการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 115.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.43 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 96.92 ล้านบาท เป็นผลมาจากพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายการควบคุมความเสี่ยงของกลุ่มบริษัท