“กรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง” วิเคราะห์ศก.โลกยุคทรัมป์ 2.0 แนะไทยเตรียมรับมือ

HoonSmart.com>>”กรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง” ควงกูรูเผยมุมมองเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ชี้นักลงทุนควรจับตานโยบายทรัมป์ 2.0 อาจมีผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ด้าน “BlackRock” คาดการณ์โอกาสและความเสี่ยงรอบใหม่ พร้อมแนะนำสินทรัพย์ลงทุน


BlackRock คาดการณ์โอกาสและความเสี่ยงรอบใหม่

“กรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง” เผยมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 68 ในงานสัมมนา KRUNGSRI PRIVATE BANKING Investment Outlook 2025 หัวข้อ 2025 and Beyond: Power Dynamics after Trump Era เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ชี้นักลงทุนควรจับตานโยบายทรัมป์ 2.0 อาจมีผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลกอย่างใกล้ชิด
เริ่มต้นด้วยมุมมองเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ Mr. Shaun Jamieson, Vice President Global Allocation Team, BlackRock ได้แบ่งกรอบการวิเคราะห์สถานการณ์ออกเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วย ปัจจัยคงที่ ปัจจัยผันแปร และสุดท้ายคือการนำทั้ง 2 ส่วนมาวิเคราะห์เป็นกลยุทธ์การลงทุน

ทั้งนี้ ในส่วนของปัจจัยคงที่ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ พึ่งพาภาคบริการมากขึ้น ทำให้ความผันผวนทางเศรษฐกิจลดน้อยลง 2) ตลาดแรงงานสหรัฐฯ แข็งแกร่ง อัตราการว่างงานต่ำ และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ 3) ภาคครัวเรือนสหรัฐฯ มีเงินออมสูง สืบเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง COVID-19 4) การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CapEx) ที่เกี่ยวข้องกับ AI ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจ และคาดว่า AI จะช่วยเพิ่ม GDP ได้ถึง 15% ใน 10 ปีข้างหน้า และ 5) สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าเงินทุนจำนวนกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกองทุนตลาดเงิน ซึ่งอาจหนุนตลาดหุ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีตัวแปรที่ยังคงต้องติดตาม ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านการค้า ขณะที่นโยบายด้าน Deregulation อาจจะให้ผลในเชิงบวก 2) ผลกระทบของกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) โดยที่แต่ละประเทศจะเน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น 3) ทิศทางนโยบายการเงินของ FED ที่ยังคาดเดาไม่ได้ และ 4) หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่จะระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ซึ่งหากนำปัจจัยทั้ง 2 มาวิเคราะห์ถึงผลกระทบโดยรวมที่อาจเกิดขึ้น มองว่าในระยะสั้นจะมี Positive Demand Shock จากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการบริโภค รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ที่จะยังส่งผลบวกต่ออุปสงค์ในภาพรวม ขณะที่เงินเฟ้อจะยังคงมีอยู่ แต่ในระยะยาวจะเกิด Positive Supply Shock การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เน้นประสิทธิภาพการผลิต เช่น เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ที่ช่วยทดแทนแรงงาน

สำหรับมุมมองด้านการลงทุน แม้ว่าปัจจุบันราคาหุ้นจะไม่ได้อยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมีโอกาสการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่มีผลประกอบการและกระแสเงินสดเติบโต ซึ่งปัจจุบันอัตราการเติบโตของรายได้และกระแสเงินสดอิสระสูงกว่าในอดีต ขณะที่ยุโรปมี Valuation ที่น่าสนใจ แต่มีความเสี่ยงในการเติบโต อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบริษัทชั้นนำในกลุ่ม Healthcare และ Financial ที่น่าสนใจเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของ Corporate Reform ซึ่งการซื้อหุ้นคืนช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นด้านตราสารหนี้ แนะนำลงทุนในตราสารอายุสั้นที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตราสารหนี้ระยะยาว นอกจากนี้ High Yield Bond และตราสารหนี้ที่มีหลักประกันยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งจากการชำระหนี้ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ

 

จับตาจีนตั้งรับ ‘ทรัมป์ 2.0’ ขณะที่ ‘ไทย’ เตรียมสู้ศึกการค้าสองด้าน

ด้าน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แบ่งการวิเคราะห์การลงทุนในจีนเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและนโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยและโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในช่วง Stabilization คือเน้นทำให้เศรษฐกิจมีความมั่งคง รักษาระดับการเติบโต และเตรียมปรับโครงสร้างระยะยาว โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีผลต่อ GDP ประมาณ 15-30% ขณะที่รัฐบาลจะหันไปสนับสนุนเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น พลังงานสะอาด ซึ่งมีสัดส่วนการเติบโตกว่า 8% ของ GDP ส่วนด้านนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ที่มุ่งเป้าไปที่ประเทศจีนและดึงฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ อาจเป็นการขึ้นกำแพงภาษีกับทุกประเทศ เพื่อดึงโรงงานจากจีนและประเทศอื่นๆ กลับไปยังสหรัฐฯ

สำหรับท่าทีการตอบโต้ของจีน มองว่า จีนจะเน้นการพัฒนาตลาดภายในประเทศและขยายไปยังตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มต้นพร้อมกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน เช่น AI, พลังงานทางเลือก และ Quantum Computing ซึ่งโดยสรุปแล้ว มองว่าการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ (Globalization) ในรอบนี้ สหรัฐฯ และจีนจะพึ่งพาตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบกับความมั่งคั่งที่ลดลง แต่จะแข็งแกร่งในระยะยาว ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะไทยและประเทศกำลังพัฒนา จะเผชิญความท้าทายจากการย้ายฐานการผลิตกลับและสินค้าจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดโลก

 

Krungsri Investment Intelligence แนะคอยความชัดเจนจากปัจจัยสำคัญ

ด้าน นายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน และหัวหน้าทีม Krungsri Investment Intelligence ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2568 เป็น 4 ประเด็น ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ : นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ดี และมีโอกาสเกิด Recession ต่ำ อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของทรัมป์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจ

2. ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน : ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด 7 ไตรมาสติดต่อกัน อย่างไรก็ตามในระยะถัดไป การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับตลาดหุ้นในปี 2568

3. อัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond Yield) : อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช้าและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจส่งผลให้ FED ปรับลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น และกดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้น ทั้งนี้ ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ Bond Yield อยู่ในระดับสูง ซึ่งมองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อกองทุนตราสารหนี้โลก

4. นโยบายทรัมป์ 2.0 : อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัว และเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามนโยบายในแง่บวกคือนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลและ Deregulation ทั้งนี้ผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั้งแง่บวกและลบ ขึ้นอยู่กับว่าทรัมป์จะสามารถดำเนินนโยบายตามที่สัญญาไว้ได้มากน้อยและรวดเร็วแค่ไหน
Krungsri Investment Intelligence ได้สรุปมุมมองและคำแนะนำการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์ ไว้ดังนี้

ตราสารหนี้โลก : แนะนำให้ลงทุนในช่วงที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยแนะนำกองทุน KF-CSINCOM ที่มีการปรับ Duration ของกองทุนสม่ำเสมอ และปรับสัดส่วน High Quality กับ High Yield ตามสภาวะตลาด

ตลาดหุ้นโลก : มีมุมมองที่เป็นกลาง แต่มีมุมมองเป็นบวกกับการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ โดยมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากมาตรการของทรัมป์ อย่างไรก็ตามควรติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคาหุ้นอาจมีความผันผวนจาก Valuation ที่อยู่ในระดับสูง

หุ้นยุโรป : จังหวะซื้อที่ดีคือช่วงที่ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจยุโรปยังมีความไม่แน่นอนสูง แนะนำรอความชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

หุ้นญี่ปุ่น : ยังคงได้รับประโยชน์จากค่าเงินเยนที่อ่อนและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่บริษัทมีนโยบายการซื้อหุ้นคืน

หุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา : มองว่ามีปัจจัยกดดัน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการค้าระหว่างประเทศ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และอัตราผลตอบแทนสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

หุ้นจีน : มองว่ากำลังเผชิญ 2 ประเด็นหลัก คือ การค้าระหว่างประเทศและภาคอสังหาฯ อย่างไรก็ตามมองว่ารัฐบาลจีนน่าจะมีการประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นระยะๆ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น

หุ้นไทย : มองว่ามีความเสี่ยงจากการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของ GDP อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยบวก

หุ้นเวียดนาม : จะมีปัจจัยบวกจากการอัปเกรดเป็น Emerging Markets แต่ต้องระวังผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์ ซึ่งมีผลต่อประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ

สำหรับผู้สนใจบริการ KRUNGSRI PRIVATE BANKING สามารถเข้าไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขาทั่วประเทศ หรือศึกษารายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.krungsri.com/th/wealth/krungsri-private-banking