“ทริสเรทติ้ง” ประเมินตลาดธุรกิจโรงพยาบาล 3 ปีโตต่อเนื่อง 5%-7% ต่อปี แม้คนไข้จากตะวันออกกลางชะลอตัวลง มองควบรวมกิจการมีต่อเนื่องแต่ขนาดเล็กลง ด้านฐานะการเงินกลุ่มรพ.ในตลาดหลักทรัพย์แข็งแกร่ง ชู BDMS BH และ BCH โตต่อเนื่อง 2-3 ปี
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คาดธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยจะยังคงโตต่อเนื่องได้ 5%-7% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการเติบโตจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งช่วยชดเชยความต้องการจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกกลางที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมน่าจะลดลง โดยบริษัทส่วนใหญ่น่าจะเน้นการยกระดับการให้บริการและการเพิ่มอัตราการครองเตียง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการที่ประชากรมีอายุที่ยืนยาวขึ้นทำให้คาดว่าบริษัทประกันสุขภาพจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว
สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไป จากเดิมผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติหลักที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากในปี 2558 ส่งผลให้อัตราการเติบโตของผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางลดลง ทำให้การเติบโตของรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มลดลง
จากข้อมูลรายได้รวมของผู้ป่วยต่างชาติของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) พบว่ารายได้จากผู้ป่วยต่างชาติมีอัตราการเติบโตเพียง 6% ต่อปี ในช่วงปี 2559-2560 ลดลงจากเคยเติบโตประมาณ 11% ต่อปีในช่วงปี 2556-2558 โดยตัวเลขรายได้รวมจากผู้ป่วยในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) สูงกว่ารายได้รวมจากผู้ป่วยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางตั้งแต่ปี 2559
ทริสเรทติ้ง คาดผู้ประกอบการในตลาดจะเน้นการเติบโตจากภายใน การควบรวมกิจการน่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ขนาดของการควบรวมอาจจะไม่ใหญ่มากเหมือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยผู้เล่นรายใหญ่จะเน้นการยกระดับการให้บริการและเพิ่มอัตราการครองเตียงของโรงพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่จำกัดทำให้การขยายธุรกิจโดยการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลทำได้ยากขึ้น จากตัวเลขขององค์การอนามัยโลกปี 2558 พบว่าจำนวนแพทย์และพยาบาลของประเทศไทยมีสัดส่วนแพทย์พียง 0.47 คนต่อประชากร 1,000 คน และมีพยาบาล 2.294 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสิงคโปร์ โดยประเทศเหล่านี้มีจำนวนแพทย์มากกว่า 2 คนต่อประชากร 1,000 คน แม้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยจะผลิตแพทย์ได้ราว 3,000 คนต่อปี ก็ยังจะต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการเพิ่มสัดส่วนแพทย์ให้เป็น 1 คนต่อประชากร 1,000 คน
นอกจากนี้คาดว่าธุรกิจประกันสุขภาพจะมีบทบาทสำคัญในธุรกิจการแพทย์ของไทย ความแออัดในโรงพยาบาลรัฐและระยะเวลาในการรอรับการรักษาที่ค่อนข้างนานทำให้ผู้ป่วยที่มีฐานะปานกลางถึงสูงมีแนวโน้มที่จะไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายการให้บริการทางด้านสุขภาพที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 3%-5% ต่อปี ทำให้จำนวนประชาชนหันไปทำประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกรณีเจ็บป่วย
จากข้อมูลรายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พบว่าสัดส่วนรายได้จากกลุ่มบริษัทประกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากกลุ่มบริษัทประกันของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพพบว่ามีสัดส่วนประมาณ 23.3% ของรายได้การให้บริการรวมในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 15.3% ของรายได้การให้บริการรวมในปี 2555 ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากบริษัทประกันของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เพิ่มขึ้นเป็น 13.8% ของรายได้การให้บริการรวมในปี 2560 จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 11.9% ของรายได้การให้บริการรวมในปี 2555
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิต ในปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตของผู้ประกอบการ 3 ราย คือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) และ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) โดยคาดว่าผลประกอบการโดยรวมของทั้ง 3 บริษัทน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากความต้องการรวมถึงความรุนแรงของโรคที่เพิ่มมากขึ้น การเติบโตของธุรกิจจากการควบรวมกิจการน่าจะลดน้อยลง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตน่าจะเกิดจากผลการดำเนินงานและความสามารถในการควบคุมต้นทุน
ด้านข้อมูลทางการเงินของผู้ประกอบการธุรกิจการแพทย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ค่อนข้างแข็งแรงทั้งในแง่ของอัตรากำไรและโครงสร้างการเงิน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด 3 รายแรกที่ได้รับการจัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง (BDMS BH และ BCH) น่าจะยังคงมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยการเติบโตของรายได้น่าจะมาจากการยกระดับคุณภาพการให้บริการและการเพิ่มอัตราการครองเตียง นอกจากนี้ ทั้ง 3 บริษัทยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนจากธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันรายได้รวมของทั้ง 3 บริษัทในปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 70% ของรายได้รวมของทั้ง 21 บริษัทในที่จดทะเบียนในหมวดธุรกิจการแพทย์ของ ตลท.
จากข้อมูลทางการเงินของทั้ง 21 บริษัทในที่รวบรวมโดยทริสเรทติ้งในช่วงปี 2555-2560 พบว่าฐานะทางการเงินโดยรวมค่อนข้างดีสม่ำเสมอ ความสามารถในการทำกำไรวัดจากอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ทรงตัวที่ระดับประมาณ 24%-26% โดยมีอัตรากำไรเบื้องต้นที่ประมาณ 35% และอัตรากำไรสุทธิที่ไม่รวมรายการพิเศษอยู่ที่ประมาณ 14%-16% อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้อย่าง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทรงตัวที่ประมาณ 1-2 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน) อยู่ในระดับที่สูงประมาณ 14-17 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนต่ำกว่า 35% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา