HoonSmart.com>>SCB EIC เผย AWC,CPN,J,MBK,PLAT,S ได้เปรียบด้านการแข่งขัน ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งสำนักงานให้เช่า พื้นที่ค้าปลีกให้เช่า
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชยื (SCB EIC) ระบุว่า ปี 2568 กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งพื้นที่สำนักงานให้เช่า และธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า รายใหญ่ ซึ่งมีผู้เล่นน้อยราย เช่น บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป(AWC),บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN),บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท (J),บริษัท เอ็ม บี เค (MBK),บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป (PLAT) และบริษัท สิงห์ เอสเตท (S) จะมีความได้เปรียบในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงขยายสาขา ทำให้สามารถสร้างการรับรู้ของแบรนด์ไปในวงกว้าง จึงมีความสามารถในการแข่งขันดึงดูด Traffic และความต้องการพื้นที่เช่าได้มาก
คาดว่าอุปสงค์พื้นที่สำนักงานให้เช่าในปี 2568 จะกลับมาฟื้นตัวได้เล็กน้อย +2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากอุปสงค์ของบริษัทในประเทศที่ฟื้นตัวช้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบกับการทำงานรูปแบบ Hybrid work Place และ Office based Hybrid work Place ที่ยังคงกดดันให้ความต้องการพื้นที่ใหม่มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย
ด้านความต้องการพื้นที่ใหม่จะมาจากบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ทยอยกลับเข้ามาลงทุนซึ่งมักสนใจพื้นที่ให้เช่าในโครงการขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีอยู่น้อยรายเป็นหลัก
ขณะที่ อุปทานใหม่ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่าอุปสงค์อย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าอุปทานใหม่ในปี 2568 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว +2.5% ถึง +4.5% ต่อปี ซึ่งสถานการณ์ Over Supply และอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างจำกัดยังคงกดดันให้อัตราค่าเช่าในปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง
ส่วนตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยคาดว่าอุปสงค์พื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในปี 2568 จะขยายตัว 2.5% ถึง +3.5% ต่อปีตามการขยายตัวของอุปทานใหม่ โดยเฉพาะโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มักเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมี ศักยภาพในการดึงดูดผู้เข้าใช้บริการทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ยังคงมีความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกในโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มักเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามอุปสงค์พื้นที่ ค้าปลีกให้เช่าโดยรวมยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจซึ่งอาจทำให้การขยายตัวในระยะต่อไปยังเป็นไปอย่างจำกัดทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า การกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของธุรกิจค้าปลีก ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด 19 และความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนอุปทานใหม่ในปี 2568 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น +5% ถึง +8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดว่าอัตราค่าเช่าในปี 2567-2568 ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนักอยู่ที่ราว +1% ถึง +2% เมื่อเทียบปีต่อปี
การแข่งขัน ในตลาดยังมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้เล่นรายใหญ่เป็นหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน และกรุงเทพฯชั้นกลางบางพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของอุปทานสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ได้แก่ 1. พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง 2. สร้างความแตกต่างและยกระดับคุณภาพของพื้นที่หรือโครงการเช่นเพิ่มความหลากหลายของประเภทผู้เช่าหรือรูปแบบของพื้นที่เช่าในโครงการปรับปรุงพื้นที่และการให้บริการ 3. บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะต้นทุนการพัฒนาโครงการและ 4.ให้ความสำคัญกับเทรน esg โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกันพัฒนาโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน