BCP-TOP นำดิ่งกลุ่มโรงกลั่น หวั่นมาร์จิ้นหด หากยกเลิกอ้างอิงค่าการกลั่นสิงคโปร์

HoonSmart.com>>BCP-TOP นำดิ่งกลุ่มโรงกลั่นเดี้ยง หวั่นมาร์จิ้นหดหากยกเลิกอ้างอิงค่าการกลั่นตลาดสิงคโปร์ เพื่อหวังลดราคาน้ำมัน จึงมองคงไม่ง่ายที่จะทำ พร้อมแนะ”Wait & See” ค่าการกลั่นล่าสุดตกต่ำมากเหลือไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

หุ้นในกลุ่มโรงกลั่นเดี้ยง โดยปิดเทรดช่วงเช้าหุ้น BCP ลบ 2.90% มาที่ 33.50 บาท ลดลง 1 บาท มูลค่าซื้อขาย 118.28 ล้านบาท
หุ้น TOP ลบ 0.93% มาที่ 26.5 บาท ลดลง 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 100.67 ล้านบาท
หุ้น SPRC ทรงตัวที่ 5.70 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าซื้อขาย 19.03 ล้านบาท
หุ้น IRPC ทรงตั้วที่ 1.16 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าซื้อขาย 3.84 ล้านบาท

นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทโรงกลั่นจะใช้หลักการในการกำหนดต้นทุนน้ำมันแบบ Import Parity ความหมายคือเลือกที่จะไม่ผลิตก็นำเข้ามา ซึ่งซื้อมาจะใช้ราคา CIF อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์อยู่ดี หากจะให้โรงกลั่นไทย่ยกเลิกการอ้างอิงค่าการกลั่นตลาดสิงคโปร์ เพื่อให้ราคาขายน้ำมันในประเทศถูกลง ก็จะส่งผลกระทบต่อมาร์จิ้นของบริษัทโรงกลั่น เพราะต้นทุนเท่าเดิม แต่ราคาขายลดลง ทำให้มาร์จิ้นลดลง

“ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่คงจะไม่ง่าย ในแง่ความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะค่าการกลั่นตลาดสิงคโปร์ใช้อ้างอิงการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ และเป็นราคาต้นทุนผลิตของโรงกลั่น บวกกับค่าประกัน-ขนส่ง ซึ่งหากไม่มีค่าประกันฯ คิดแต่ต้นทุนผลิตอย่างเดียวก็จะลดไป 1-1.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เยอะมากนะ ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่จะไม่อ้างอิง…ต้นทุนแต่ละโรงกลั่นก็ไม่เท่ากัน และทุกวันนี้แต่ละโรงกลั่นอ้างอิงของตัวเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนต้องรอดูต่อไป”

สำหรับหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นปัจจุบันแนะนำ Wait & See จากค่าการกลั่นปรับตัวลงมาก ล่าสุดอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยล่าสุด (20 ม.ค.)ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดที่ 0.31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อนึ่ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้ไทยยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในประเทศถูกลง ต่อมามีข่าวประธานสภาอุตสาหกรรม และ”ทีดีอาร์ไอ”ก็สนับสนุนให้ยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ เพื่อลดการซ้ำซ้อน และกดราคาน้ำมันลง 2 บาท/ลิตร ส่วนกระทรวงพลังงานเตรียมนำระบบ Cost Plus มาใช้แทน