คปภ.สั่ง”สินมั่นคง” หยุดรับประกัน ควบคุมเงิน ทรัพย์สิน

HoonSmart.com>>คปภ.ออกคำสั่งให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวอย่างเป็นทางการแล้ว ควบคุมการเงิน ห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน ด้านสมาคมประกันวินาศภัยไทยเตรียมขอความร่วมมือสมาชิกรับโอนลูกค้าแบบมีเงื่อนไข

เช้าวันที่ 18 ธ.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ได้ขึ้นประกาศคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว บนเว็ปไซต์

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ลงนามในประกาศในฐานะนายทะเบียน เรื่อง คำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย (SMK) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ

สำหรับการจ่ายเงินอื่นให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด รวมถึงให้บริษัทรายงานเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบถึงบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งหมดของบริษัทภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

ทั้งนี้ เนื่องมาจากบริษัทมีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน โดยให้ทำการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่เดือนต.ค.2565 ภายใน 1 ปี แต่บริษัทไม่ดำเนินการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เป็นไปตามคำสั่ง กลับไปอาศัยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย และเมื่อครบระยะเวลา 1 ปี ตามคำสั่ง บริษัทได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวออกไป ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง

ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.พ.ศ. 2566 ซึ่งปรากฏผลการนับคะแนนว่าแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่
ประชุมเจ้าหนี้ แต่ผู้ทำแผนยื่นคำร้องคัดค้านการนับคะแนนการลงมติของเจ้าหนี้กับศาลล้มละลายกลางซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ตรวจสอบกระบวนการและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการลงมติล่วงหน้าของเจ้าหนี้ปัจจุบันการตรวจสอบได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานผลการตรวจสอบต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ผลไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ผลปรากฏในท้ายที่สุดว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. พ.ศ. 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่ายทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว
ซึ่งในกรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ คือ “บริษัท” จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป ตามความในมาตรา ๙๐/๗๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้

ทำให้ คปภ.ในฐานะนายทะเบียนออกคำสั่งตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และเข้าควบคุมบัญชีทรัพย์สินของบริษัทเพื่อไม่ให้ทำการเคลื่อนย้าย หรือ สั่งจ่ายเงิน แต่ให้สามารถจ่ายเงินเดือน และจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้

หากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคปภ. บริษัทมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) กล่าวว่า หลังจากที่คปภ.สั่งให้หยุดรับประกันภัยชั่วคราว ทางบริษัทสินมั่นคงประกันภัย มีเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินกับทางคปภ.ภายใน 60 วัน แต่จากหนี้สินที่ค้างจ่ายลูกค้าโควิดเกือบ 30,000 ล้านบาทอาจเป็นไปได้ยาก แต่เชื่อว่าทางผู้บริหารของบริษัทคงมีทางออกให้พนักงานและลูกค้าได้รับความเป็นธรรม ซึ่งล่าสุดมีบริษัทประกันภัยรายหนึ่งเสนอตัวเข้ามารับพนักงานเข้าไปร่วมงาน

สำหรับ ลูกค้าต้องรอดูว่าจะมีบริษัทใดเข้าไปรับโอน แต่ถ้าไม่มีบริษัทใดเสนอตัวทางสมาคมฯจะขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ช่วยเข้ามารับโอนลูกค้าไปดูแลพร้อมเงื่อนไขว่าจะต้องซื้อกรมธรรม์ใหม่กับบริษัทด้วย

“กองทุนประกันวินาศภัยที่จะเข้ามาดูแลลูกค้าของบริษัทที่ถูกสั่งปิดกิจการมีเงินไม่พอกับภาระหนี้สิน เพราะมีแค่ระดับพันล้านบาทต้นๆ ในขณะที่หนี้สินของบริษัทที่ถูกปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ 4 บริษัทรวมสินมั่นคงด้วยจะมีหนี้สินที่ต้องชำระรวมถึง 80,000 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนมีเงินเข้าปีละ 1,400 ล้านบาท ต้องใช้เวลานานมากๆ จึงจะชำระหนี้จบ”นายสมพร กล่าว