ธุรกิจประกันภัยอาเซียน 10 ประเทศ หารือ 4 ด้านรับมือความท้าทาย

HoonSmart.com>>หน่วยงานกำกับ-เอกชนภาคธุรกิจประกันภัย 10 ประเทศ ร่วมกำหนด 4 ทิศทางการพัฒนาธุรกิจรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม กฎหมาย อาเซียน ทักโซโนมี การบริหารการเงิน-ภัยพิบัติ รถผ่านแดน

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมประจำปีหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียนประจำปี 2566 ครั้งที่ 26 (26th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: AIRM) เมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสมาชิก 10 ประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแล การพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียน รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย

ทั้งนี้ มี 4 ประเด็นหลักๆ ที่หน่วยงานกำกับได้หารือร่วมกัน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียน 2.ความคืบหน้าการจัดทำ ASEAN Taxonomy Version 2 ประกอบด้วย การจัดทำกรอบแนวคิดพื้นฐาน ที่มีรายละเอียดวิธีการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกณฑ์การประเมินทางเทคนิค และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินสำหรับสาขาพลังงาน 3. ความคืบหน้าแผนการดำเนินการภายใต้โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติ  ซึ่งทางสำนักงานคปภ.ได้สนับสนุนให้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงจากสุขภาพเพื่อรองรับโรคระบาด 4. ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 ว่าด้วย แผนการประกันภัยรถภาคบังคับอาเซียน

ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Compulsory Motor Insurance: ACMI) และเชื่อมโยงระบบ ACMI ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งทางสำนักงาน คปภ.ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมกันนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในการพัฒนาศักยภาพด้านการประกันภัยของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของอาเซียนจากสถาบันเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมอาเซียน

นายชูฉัตร กล่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้ประชุมร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัย โดยมีประเด็นที่สำคัญคือการรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมา รวมทั้งผลการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียน และคณะทำงานต่าง ๆ ของภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียน ได้แก่ 1) คณะทำงานด้านการประกันภัยรถผ่านแดน 2) คณะทำงานด้านการศึกษา 3) คณะทำงานด้านภัยพิบัติ 4) คณะทำงานด้านการประกันภัยต่อ และ 5) คณะทำงานด้านตะกาฟุลและประกันภัยต่อตะกาฟุล

ทั้งนี้ ทางสำนักงาน คปภ. ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ยั่งยืนใน 3 มิติ ในที่ประชุม AIRM โดยมิติที่ 1 การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น ไมโครอินชัวรันส์ การประกันภัยพืชผล การประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และการประกันภัยรถยนต์ตามพฤติกรรมของผู้ขับขี่ มิติที่ 2 การยกระดับหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล และการศึกษาและพัฒนาโครงการการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และมิติที่ 3 การปรับปรุงและออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของบริษัทประกันภัยใหม่ เพื่อเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยสามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน เช่น การลงทุนในธุรกิจสถานพยาบาล หรือกิจการดูแลผู้สูงอายุ

รวมทั้ง ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และแนวทางการกำกับดูแลการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร แนวทางการจัดการพฤติกรรมการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของคนกลางประกันภัยที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งได้นำเสนอภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย จำนวนตัวแทนและนายหน้าประกันภัย การให้ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัยแก่ธนาคาร การกำกับดูแลตัวแทนและนายหน้าประกันภัย และการกำกับดูแลค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันภัย