“SCB EIC”หั่นศก.ปี’67 เหลือ 3% ชี้เป้า 6 ธุรกิจรายได้เพิ่ม-4 อุตฯร่วง

HoonSmart.com>>SCB EIC คาดเศรษฐกิจปี 2567 โต 3% จากเดิมวางไว้ 3.5% พร้อมชี้เป้า 6 ธุรกิจรายได้เพิ่ม อีก 4 กลุ่มรายได้ร่วง ฟันธง 2 ธุรกิจดาวรุ่งดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าไทย แนะ 4 ทางออกขับเคลื่อนประเทศให้เหมาะกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลง

น.ส.ธิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(SCB EIC)คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโต 3% ซึ่งเป็นการปรับลดตัวเลขลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 3.5% เมื่อเดือนก.ย.โดยเครื่องยนต์ที่เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ คือการส่งออกมีการฟื้นตัว จากแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวดีตามแนวโน้มยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนและนโยบายส่งเสริมภาครัฐ

ส่วนปี 2566 คาดว่าจะโต 2.6% จากเดิมที่มองไว้ 3.1% เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของรัฐบาลออกมาล่าช้า คาดว่าจะออกมาได้ในปี 2567 และจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเหลือ 28 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ 30 ล้านคน

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจัดว่าฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นจากโควิดได้ช้าติดอันดับ 155 จาก 189 ประเทศทั่วโลก และปีหน้ายังมีปัจจัยลบที่กดดัน โดยเศรษฐกิจีนชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง กระทบการฟื้นตัวของการส่งออกไทยและนักท่องเที่ยวจีน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกอาจรุนแรงขึ้น กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการส่งออกไทย Climate risks ส่งผลต่อภาคเกษตรไทย

รวมถึง รายได้ฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก การลงทุนภาครัฐและการประมูลโครงการใหม่ล่าช้า และความเสี่ยงในระบบการเงินจากดอกเบี้ยสูง โดยประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับ 2.5% ไปตลอดปี 2567 และเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับศักยภาพในระยะยาว (Neutral rate) ช่วยเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% ตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และช่วยสร้างความสมดุลในระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงกลับเป็นบวกได้

ส่วนค่าเงินบาท คาดว่าจะอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของภาครัฐ และแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย

“ต้องระวังความเสี่ยงในระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยสูงนาน ได้แก่ 1) ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง  โดย NPL ของรายย่อยเพิ่มขึ้นจากหนี้รถยนต์และหนี้บัตรเครดิต 2) ความเสี่ยงการระดมทุนของภาคธุรกิจในตลาดหุ้นกู้ ที่ในตลาดมีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท โดย 60% จะครบกำหนดใน 6 เดือนแรกของปี 2567 และ 3) ความเสี่ยงสภาพคล่องของ Non-bank บางราย”น.ส.ธิติมา กล่าว

น.ส.โชติกา ชุ่มเงิน ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต SCB EIC คาดว่า ปี 2567 ภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นมี 6 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจ ด้านสุขภาพ ธุรกิจไฟฟ้าด้านพลังงานหมุนเวียนทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ธุรกิจโซลาร์เซลล์ โดยธุรกิจเหล่านี้จะได้ปัจจัยหนุนจากการที่การบริโภคทยอยฟื้นตัว นโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ เป็นธุรกิจที่สอดรับกับเทรนด์ ESG สอดคล้องกับเทรนด์ Digitization ของโลก และประเทศคู่แข่งมีนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าเกษตร

ส่วนธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตของรายได้ลดลงมี 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจผู้ผลิตเหล็ก ธุรกิจปิโตรเคมี ผู้ผลิตพลาสติก ธุรกิจสำนักงานให้เช่า และธุรกิจถ่านหิน ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาด้าน Geopolitics หนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยสูง นโยบายสินเชื่อเข้มงวดจากปัญหา NPL ที่อยู่ในระดับสูง การอนุมัติงบประมาณล่าช้าและความเสี่ยงจากการปรับลดงบลงทุนโครงการ Mega project เพื่อกระตุ้นการบริโภคก่อน และยังมีแรงกดดันจาก Climate change ปัญหา Oversupply มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และมีความเสี่ยงจากการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

2 ธุรกิจดาวรุ่งรับเทรนด์โลก

ด้านธุรกิจที่จะดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศได้มาก ที่เป็นดาวรุ่ง ได้แก่ 1.ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์  เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สอดรับกับยุคดิจิทัล ซึ่งไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร และเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างยาวนาน แรงงานที่มีทักษะฝีมือค่อนข้างดีที่สามารถพัฒนาฝีมือขึ้นไปผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง รวมถึงชิปที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ในอนาคต

นอกจากนี้ BOI มีมาตรการและนโยบายสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับต้นน้ำและชิปโดยเฉพาะ รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจแข่งขันได้และเติบโต ทั้ง Front-end การผลิตเวเฟอร์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี ด้าน Back-end การผลิตและทดสอบอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และด้าน Printed Circuit Board Assembly (PCBA) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 5 ปี

2.ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งไทยมีความพร้อมเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมผลิตภรถยนต์ EV เพราะเป็นฐานการผลิตน้ำมัน มีซัพพลายเชนที่แข่งแกร่ง รวมทั้งนโยบายสนับสนุนภาครัฐเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB EIC กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง โดย 20 ปีที่ผ่านมา มีการโตเฉลี่ยปีละ 8% พอ 10 ปีต่อมาโตเฉลี่ย 5% ต่อปี และปัจจุบันหลังโควิดโต 3% ซึ่งเป็นผลมาจากครัวเรือนไทยมีหนี้ค่อนข้างสูง ผู้ที่มีรายได้เติบโตอย่างรวดเร็วมีสัดส่วน 10% ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ 90% มีการเติบโตของรายได้ช้าและต่ำมาก อันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน
เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศที่ยังต้องจับตานโยบายรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ทรัพยากรภาครัฐมีจำกัดในการใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อไปได้จะต้องทำการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 4 สร้าง ได้แก่ (1) สร้างภูมิคุ้มกันให้ครัวเรือน ผ่านการสร้างกลไก Social assistance และ Social insurance ที่ครอบคลุมและเพียงพอ (2) สร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ และผลักดันไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยเร่งให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้ (3) สร้างกลยุทธ์การลงทุนของประเทศให้เหมาะสมกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไป และ (4) สร้างความยั่งยืนของภาคการผลิตไทย ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน