HoonSmart.com>>”ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” (TISCO) รายแรกแจ้งกำไรปี 67 อยู่ที่ 6,901 ล้านบาท ลดลง 5.5% จากปี 66 เหตุตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท รองรับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง ดันหนี้ NPL เพิ่มขึ้นแตะ 2.35% แต่สัญญาณดีขึ้นจากไตรมาส 3/67 ด้านรายได้จากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.3% รายได้ดอกเบี้ยพุ่ง ส่วนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อลดลง ค่าธรรมเนียมธุรกิจกองทุนรวมเติบโต ธุรกิจหลักทรัพย์ชะลอตัว
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดปี 2567 มีกำไรสุทธิ 6,901.27 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 8.62 บาท ลดลง 399.84 ล้านบาท หรือ 5.5% จากงวดปี 2566 กำไรสุทธิ 7,301.11 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 9.12 บาท
บริษัทฯ มีกำไรลดลง สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มสำรองเพื่อกลับสู่ระดับปกติ พร้อมทั้งเพื่อรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ของปี 2567 มีจำนวน 1,375.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 359.48 ล้านบาทในปี 2566 และคิดเป็นอัตรา 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย
ทั้งนี้ สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.35% ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และบริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 155.3%
ปี 2567 บริษัทฯมีสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) จำนวน 5,463.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากปี 2566 แต่ลดลง 2.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.3% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากปีก่อนหน้าจากการบริหารผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ชดเชยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น 29.4% ตามการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝาก
ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 8.4% ส่วนใหญ่มาจากผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านก าไรหรือขาดทุน (FVTPL)
ด้านธุรกิจหลัก ค่าธรรมเนียมรวมของธุรกิจจัดการกองทุนเติบโต 5.5% จากการขยายตัวของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการ (Performance Fee) ในช่วงสิ้นปี นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO)
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อปรับลดลง พร้อมกับรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าประกันภัยอ่อนตัวลง
ส่วนค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ชะลอตัว เป็นไปตามภาวะตลาดทุนที่ผันผวนและปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ขณะที่เงินให้สินเชื่อของบริษัท ณ วันที่ 31 ธ.ค.มีจำนวน 232,200.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากไตรมาส ก่อนหน้า แต่ลดลง 1.1% จากสิ้นปี 2566 จากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) ของปี 2567 อยู่ที่ 16.1%
———————————————————————————————————————————————————–