“BCP” เปิดแผนยุทธศาสตร์ลงทุน 7 ปี ทุ่ม1.5 แสนล.ขยาย 5 กลุ่มธุรกิจหลัก

HoonSmart.com>>บางจากฯ(BCP)เปิดแผนยุทธศาสตร์การลงทุน 7 ปี ทุ่ม 150,000 ล้านบาท ขยาย 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ปรับปรุงโรงกลั่นมุ่งสู่การเป็นโรงกลั่นชีวภาพ ปักธงเป็นเป้าหมายปลายทางของผู้บริโภค ประเดิมปี’67 ลงทุน 50,000 ล้านบาท ปรับปรุง พัฒนา  7 ธุรกิจ  ตั้งเป้ายอดขาย 500,000 ล้านบาท เปลี่ยนตรา”เอสโซ่” เป็น “บางจาก”ให้แล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.67 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ด้วยจุดยืนในการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บางจากฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด Greenovate to Regenerate สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด โดยมีพื้นฐานจากการรักษาสมดุลระหว่างคุณค่าและมูลค่า สู่การรักษาสมดุลของความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ(Energy Trilemma) เพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี2593 ตลอดจนการรักษาสมดุลในการเป็นองค์กรที่เปียมด้วยจรรยาบรรณที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลธุรกิจที่ดี (ESG) และด้วยรากฐานที่มั่นคง ประกอบกับความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ และศักยภาพทางธุรกิจต่างๆ จะช่วยเอื้อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตสู่ปีที่ 40 ในปี 2567 และปีต่อๆ ไป ได้อย่างแข็งแกร่ง สร้างความยั่งยืนให้กับทั้งองค์กรและสังคมไทยโดยรวม

ทั้งนี้ บางจากฯ มีแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเติบโตทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ตั้งแต่ปีหน้าไปถึง 2573 และกำหนดแผนพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบัน (Extend) และแสวงหาโอกาสในการกระจายการลงทุนในธุรกิจอื่น (Diversify) เพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งจะเป็นพลังงานสะอาดที่เป็น Bridging Energy ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนี้ ธุรกิจการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและมุ่งสู่การเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์ม Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ มีสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) ที่เน้นศึกษาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพลังงานที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ โดยบางจากฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินและการจัดหาแหล่งเงินทุนหลากหลายรูปแบบและเหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง

 

สำหรับการลงทุนในอีก 7 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2567 -2573 ได้ตั้งงบลงทุนไว้ 150,000 ล้านบาท ใน 4 กลุ่มธุรกิจ แยกเป็น กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) สัดส่วน 30% กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ธุรกิจการตลาด (Refinery & Market) สัดส่วน 30% กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Clean Power ) สัดส่วน 30% กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพและธุรกิจใหม่ๆ (Bio-Based & New Business)สัดส่วน 10%

สำหรับปี 2567 วางงบลงทุนไว้ 50,000 ล้านบาท แยกเป็น กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (Refinery and Oil Trading) 9,000 ล้านบาท บริษัทบีซีพีจี หรือ บริษัทบางจากศรีราชา (BSRC) 1,700 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจการตลาด (Marketing) 1,700 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า(Clean Power ) 14,000 กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-Based Products) 800 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ(Natural Resources) 17,800 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจใหม่(New Business) 5,000 ล้านบาท

ด้านยอดขาย ตั้งเป้าไว้ที่ 500,000 ล้านบาท จากปี 2566 ที่คาดว่าจะมียอดขาย 360,000 ล้านบาท เพราะจะมีการรับรู้รายได้จากกำลังการผลิตของเอสโซ่ และบริษัทบีซีพีจี เข้ามาเต็มปี

สำหรับปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของบางจากฯ ทุกกลุ่มธุรกิจมีการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม รวมถึงมีพัฒนาทางธุรกิจสำคัญหลายด้าน นับเป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพและขีดความสามารถทางธุรกิจที่น่าภาคภูมิใจ โดยหลังจากที่บางจากฯได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทบางจาก ศรีราชา หรือบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) เดิม ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลของความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Energy Trilemma) ผ่านการผสาน ประโยชน์ของธุรกิจด้วยการ synergy ระหว่างกัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงสุด และมีการพัฒนา platform for growth เพื่อการเติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงพลังงานใด้ในราคาที่เป็นธรรม สร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับสังคมไทยและบริษัทฯ โดยได้มีการวางแผนธุรกิจและเป้าหมายสำคัญในปี 2567 ในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันมาตรฐานระดับโลก 2 แห่ง ตั้งเป้าหมายอัตราการกลั่นมันดิบ รวม 266,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 72% จาก 155,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2566) โดยโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ซึ่งได้รับการยอมรับถึงคุณภาพระดับโลกได้มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพต่อเนื่อง มีต้นทุนการกลั่นต่ำที่ประมาณ 1.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและใช้พลังงานในกระบวนการกลั่นอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าดัชนีชี้วัดการใช้พลังงานสากลที่ 1st Quartile และมีแผนขยายระยะเวลาของรอบการหยุดซ่อมบำรุงจาก 2 ปีเป็น 4 ปี

ทั้งยังมีการศึกษาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาโรงกลั่นมุ่งสู่การเป็นโรงกลั่นชีวภาพ (Bio-refinery) ซึ่งผลิตน้ำมัน Biofuel 2nd Generation ที่มีคุณสมบัติ Drop-in เทียบเท่ากับน้ำมันฟอสซิล โดยมีเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นผลิตภัณฑ์แรก ขณะเดียวกันจะนำความสำเร็จจากการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงมาใช้กับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพด้านต่างๆ สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันและการผสานประโยชน์ร่วมกัน โดยตั้งเป้าอัตราการกลั่นน้ำมันดิบ สำหรับโรงกลั่นบางจาก ศรีราชาในปี 2567 ที่ 155,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ดำเนินการมา

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันของบางจากฯ มีการดำเนินธุรกิจครบวงจรใน value chain ด้วยธุรกิจจัดหาน้ำมันดิบผ่านบริษัท บีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) ในประเทศสิงคโปร์ ธุรกิจบริหารการขนส่งเชื้อเพลิงทางรถและเรือ ทางท่อและโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ผ่านบริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) และธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ผ่านบริษัทบีเอสจีเอฟ (BSGF) และ

ล่าสุด ได้จัดตั้งบริษัท รีไฟเนอร์รี่ ออฟติไมซ์เซชั่น แอนด์ ชินเนอร์ยี่  เอนเตอร์ไพรส์ (ROSE) เพื่อจัดการทำแผนและบริหารงานธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 2 แห่ง ให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนให้กับบางจากฯ ต่อไป

กลุ่มธุรกิจการตลาด มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อให้สถานีบริการบางจากเป็นจุดหมายปลายทาง ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการทุกช่วงวัย ตั้งเป้าขยายเครือข่ายสถานีบริการจาก 2,221 สถานี ณ สิ้นปี 2566 เป็นมากกว่า 2,500 สถานีในปี 2573 ซึ่งรวมถึงสถานีบริการในรูปแบบ Unique Design ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยกลุ่มธุรกิจการตลาด จะมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงทั้ง Premium 97 และ Premium Diesel

รวมถึงตั้งเป้าในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่านการขยายธุรกิจ non-oil เช่น การขยายร้านอินทนิลเพิ่มขึ้นปีละ 140 สาขา เป็น 2,000 สาขาในปี 2573 ตลอดจนเพิ่มแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เพื่อความหลากหลาย และการเพิ่มร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านค้าพันธมิตรที่มีศักยภาพในสถานีบริการบางจากให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงตั้งเป้าในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มน้ำมันหล่อลื่นให้แบรนด์ FURiO

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการตลาดยังให้ความสำคัญกับปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์บางจากที่สถานีบริการเป็นไบไม้ใบใหม่” และการผสาน 2 แบรนด์เข้าสู่แบรนด์บางจากอย่างราบรื่น ปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์และเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ “เอสโซ่” เป็น “บางจาก” ด้วยแนวคิด ‘Your Greenovative Destination for Intergeneration” จุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการทุกช่วงวัย โดยนำปรัชญาความเสมอภาคและการเข้าถึงทางกายภาพมาใช้อย่างทั่วถึง ซึ่งทั้งหมดจะให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2567

ด้านบริษัท บีซีพีจี จะมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่ง และความเติบโตของธุรกิจหลัก (Core Business) คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายปี 2567 ปริมาณการผลิตไฟฟ้า(กิกะวัตต์-ชั่วโมง) เติบโตกว่าเท่าตัว พร้อมมุ่งเน้นธุรกิจที่เป็น New s Curve อาทิ ธุรกิจกักเก็บพลังงานทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสำหรับโรงงานหรือนิคมมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ

บริษัท บีบีจีไอ ตั้งเป้าหมายปริมาณจำหน่ายปี 2567 เพิ่มขึ้น 40% จาก 560 ล้านลิตร มุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจหลักจากการขยายเครือข่าย และเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงโดยร่วมกับบางจากฯ ในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF ) และโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์ที่ร่วมทุนกับ Fermbox Bio จากสหรัฐอเมริกา โดยในระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 200,000 ลิตร ในปี 2567 และเพิ่มเป็นมากกว่า 1 ล้านลิตรในปี 2570 และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) อื่น ๆ

สำหรับ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานผ่านการขยายธุรกิจ โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งเป้าหมายเติบโต 74% มีกำลังการผลิตปิโตรเลียม 40,000 boepd (บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ในปี 2567 และมีเป้าหมายกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 boepd ภายในปี พ.ศ. 2573 จากการดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA รวมถึงการแสวงหาการเติบโตในธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งใหม่ ๆ ในทวีปอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ