“บล.บัวหลวง”มองหุ้นเวียดนามยังเด่น ศักยภาพเติบโตสูง จ่ออัพสู่ตลาด EM

HoonSmart.com>>”บล.บัวหลวง” ประเมินตลาดหุ้นเวียดนามปี 68 อาจผันผวนในช่วงต้นปี กังวล “ส่งออก” ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก-มาตรการ “ทรัมป์” ก่อนกลับเข้าสู่ “ขาขึ้น” อีกครั้งจากหลายปัจจัยหนุนตลาดศักยภาพการเติบโตสูง มูลค่าหุ้นน่าดึงดูด ลุ้นได้รับการปรับสถานะตลาดจาก Frontier Market ขึ้นสู่ Emerging Market ด้านผลตอบแทน” กองทุนหุ้นเวียดนาม” ปี 67 กอง B-VIETNAM โชว์ผลตอบแทนสูง 18.07%

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นเวียดนาม สร้างผลตอบแทนโดดเด่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนี VN Index ปรับตัวขึ้น 12.2% และ 12.1% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ แม้จะเผชิญกับการปรับลดประมาณการกำไรในปี 2024 แต่ด้วยคาดการณ์การเติบโตของกำไรที่มากกว่า 30% ประกอบกับการซื้อขายที่ระดับ forward PE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีเกือบ 1SD ส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามยังคงความน่าสนใจในฐานะตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและมูลค่าที่น่าดึงดูด

สำหรับแนวโน้มปี 2025 คาดว่าดัชนี VN Index จะยังคงรักษาโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นปีอาจมีความผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของภาคการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดองที่ยังทรงตัวที่ระดับ 25,470 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2009 แม้จะสอดคล้องกับทิศทางค่าเงินในภูมิภาคอาเซียน แต่ก็สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนที่อ่อนไหวต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงิน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร 3 เดือน (3-month interbank rate) ปรับตัวสูงขึ้นจาก 4% ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2024 มาอยู่ที่ 5.64% ในปัจจุบัน สะท้อนภาวะตึงตัวที่เพิ่มขึ้นในระบบการเงิน

อย่างไรก็ตาม บล.บัวหลวง คาดว่า เมื่อผ่านพ้นช่วงแรงกดดันระยะสั้นแล้ว ตลาดหุ้นเวียดนามจะกลับเข้าสู่วงจรขาขึ้นอีกครั้ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เริ่มจากความคืบหน้าในการปฏิรูปกฎระเบียบตลาดทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การประกาศใช้ระบบ Non-prefunding ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2024 เปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติสามารถซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ต้องวางเงินล่วงหน้า

พัฒนาการสำคัญนี้เป็นก้าวย่างที่จะผลักดันให้ตลาดหุ้นเวียดนามได้รับการปรับสถานะจาก Frontier Market เป็น Secondary Emerging Market โดย FTSE ในเดือนกันยายน 2025 (อาจเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่การประกาศในเดือนมีนาคม 2025) และมีโอกาสได้รับการปรับสถานะในลักษณะเดียวกันจาก MSCI ในปี 2026 หรือไม่เกินปี 2027

การยกระดับดังกล่าวคาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจาก foreign passive fund และ active fund รวมกันประมาณ 4-6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้ตลาดหุ้นเวียดนามตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2025 เป็นต้นไป

ในด้านเศรษฐกิจ แม้เป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ 8% ในปี 2025 ที่ตั้งเป้าโดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามจะท้าทาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้วางแผนเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการระดับชาติที่สำคัญ อาทิ ทางด่วนเหนือ-ใต้สายตะวันออก

พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และพลังงาน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านแคมเปญ “คนเวียดนามให้ความสำคัญกับสินค้าเวียดนาม” การส่งเสริมธุรกิจ e-commerce การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าจำเป็น และการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร

ในขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เวียดนามกลับมีโอกาสได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากสงครามการค้าระลอกใหม่ ด้วยบทบาทสำคัญในการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาวะที่บริษัทอเมริกันมองหาฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าจากจีนและเม็กซิโก แม้จะมีความกังวลว่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่สูงถึง 95,394 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2024 อาจนำไปสู่การถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกับสองประเทศดังกล่าว แต่ บล.บัวหลวงมองต่างออกไป เนื่องจากแนวทางการใช้นโยบายภาษีของทรัมป์ในยุค Trump 1.0 มักเน้นเป้าหมายทางการเมืองและความมั่นคงแห่งชาติมากกว่าประเด็นการเกินดุลการค้าเพียงอย่างเดียว

การขึ้นภาษีจีนเกิดจากการเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่เม็กซิโกถูกขู่ขึ้นภาษีเนื่องจากปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติด แต่สำหรับเวียดนาม แม้จะเกินดุลการค้าสูง แต่ไม่ได้มีความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์หรือการแข่งขันด้านเทคโนโลยีโดยตรงกับสหรัฐฯ อีกทั้งยังถูกมองในฐานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีน นอกจากนี้ การเพิ่มภาษีเวียดนามอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของบริษัทอเมริกันเองที่ใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน

ส่วนประเด็นความเสี่ยงจากนโยบายหาเสียงของทรัมป์ที่อาจนำไปสู่การเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นแบบถ้วนหน้าในอัตรา 10-20% จากทุกประเทศนั้น แม้จะเป็นความท้าทายที่ต้องจับตา แต่เราประเมินว่าเวียดนามยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันไว้ได้ ด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างสิ่งทอ ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทอเมริกันอย่าง Apple และ Intel การย้ายฐานการผลิตในระยะสั้นเป็นไปได้ยากและมีต้นทุนสูงกว่าการรักษาฐานการผลิตเดิม

“บล.บัวหลวง จึงมองว่า เวียดนามยังมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ชนะ พร้อมโอกาสในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง”

ด้านผลตอบแทนของ “กองทุนหุ้นเวียดนาม” ปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา ข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) โดยกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้สูงสุด (เฉพาะกองทุนรวมที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไป) ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนาม (B-VIETNAM) ผลตอบแทน 18.07% รองลงมากองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-VIETNAMRMF) ผลตอบแทน 17.94% อันดับสาม กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเวียดนามเพื่อการออม (B-VIETNAMSSF) ผลตอบแทน 16.67% อันดับสี่ กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า (PRINCIPAL VNEQ-A) ผลตอบแทน 15.70% และอันดับห้า กองทุนเปิดเค เวียดนาม หุ้นทุน (K-VIETNAM)ผลตอบแทน 15.12%