KTAM Focus : Green Fossil

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์กรุงไทย

 

 

OPEC+ ซึ่งควบคุมมากกว่า 40% ของซัพพลายน้ำมันดิบโลก ประกาศผลประชุมออนไลน์ตัดสินใจคงโควตาผลิตตามที่เคยกำหนดไว้ถึงสิ้นปี 2024 แถมขยายมาตรการ voluntary cuts หลายชาติสมาชิก “สมัครใจ” ลดปริมาณผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีกรวมเกือบ 7 แสนบาร์เรลต่อวัน top-up จากเดิมที่ซาอุฯและรัสเซีย ทำอยู่แล้ว โดยทุกประเทศจะสมัครใจลดผลิตร่วมกันเกือบ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันตลอดไตรมาสแรกปี 2024

“บราซิล” จะเข้าร่วมกลุ่ม OPEC+ เริ่มตั้งแต่ ม.ค. ตลาดคาดบราซิลคงอยู่ในสถานะที่ “ไม่ต้องรับโควตา” และถ้ามาจริงก็คงจะได้ร่วมประชุมครั้งหน้าในฐานะสมาชิก 1 มิ.ย. 2024 อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของบราซิลนับว่า “ประหลาด” เพราะชาติยักษ์ใหญ่แห่งลาตินอเมริกากำลังขยาย production เพิ่ม market share อย่างโดดเด่น สวนทางกับ OPEC+ ซึ่งมุ่งลดปริมาณผลิตเพื่อพยุงราคา ทั้งนี้ ปธน.ลูลา กล่าวที่งาน COP28 เผยตัดสินใจพาบราซิลร่วม OPEC+ เพราะอยากชักชวนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ให้เตรียมพร้อมที่จะเลิกใช้พลังงานฟอสซิลในอนาคต โดยเพิ่มเงินลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) จัดที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 30 พ.ย. – 12 ธ.ค. ท่ามกลางข่าวลือตลอดจนกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนข้อสงสัยว่า ชาติเจ้าภาพซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หนึ่งในสมาชิก OPEC อาจฉวยช่องใช้สถานะประธานการประชุมเพื่อล็อบบี้รัฐบาลต่างชาติให้ทำข้อตกลงน้ำมันและก๊าซ …ผลลัพธ์เท่าที่เห็นเป็นรูปธรรมใน 3 วันแรก

+ บรรดาชาติร่ำรวยลงขันตั้งกองทุนช่วยเหลือประเทศยากจนที่ประสบภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (loss and damage fund) ซึ่งรอคอยกันมานาน นอกจากนี้ สหรัฐสัญญาจะเพิ่มเงินอุดหนุน $3 พันล้านเข้า Green Climate Fund เพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงการพลังงานสีเขียวในประเทศกำลังพัฒนา

+ 22 ประเทศรวมถึง อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ ให้คำมั่นว่าจะเพิ่ม capacity พลังงานนิวเคลียร์เป็น 3 เท่าภายในปี 2050 เพื่อเร่งความพยายามลดการปล่อยคาร์บอน

+ 50 บริษัทน้ำมันรวมถึงยักษ์ใหญ่ Saudi Aramco, Petrobras, ExxonMobil, Shell, TotalEnergies, BP ยืนยันลดการปล่อยก๊าซมีเทนจนใกล้ศูนย์ภายในปี 2030 และจะมุ่งพัฒนาพลังงานฟอสซิลให้สะอาดยิ่งขึ้น

แผนลดโลกร้อนผ่านกระบวนการ “ปรับสมดุล” อย่างต่อเนื่อง เพราะความพยายามด้วยวิธีเดิมๆมิอาจบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส บีบให้นานาชาติต้องควานหาหนทางใหม่ๆ เห็นได้ชัดจากการที่พลังงานนิวเคลียร์กลายเป็นสีเขียว (Green Nuclear) อย่างเต็มตัวแล้วในตอนนี้ …คงไม่น่าแปลกใจหากหลังประชุม COP28 ชาวโลกอาจจะเริ่มยอมรับแนวคิดใหม่เช่น Green Fossil น้ำมันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม!

*** อัพเดตความเห็นล่าสุดของเราได้ทุกเช้าที่รายการ Fund Today by KTAM ***

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:55 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์855

คำเตือน:

  1. ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  2. ทุกความคิดเห็นเป็นมุมมองส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ house view ของ บลจ. ธนาคาร หรือองค์กรใดๆทั้งสิ้น
  3. พอร์ต Belief Allocation และ Today Strategy จัดให้สอดคล้องกับมุมมองส่วนตัวตามข้อ 2 โดยทั้งคู่ลงทุนสไตล์ “สุดโต่ง-ไร้ขีดจำกัด” จึงมีความเสี่ยงสูงและแตกต่างจาก asset allocation ทั่วๆไปเป็นอย่างมาก
  4. ผู้ที่ต้องการทำ asset allocation ในรูปแบบปกติ ควรพิจารณากองทุน Krungthai World Class Series