นับหนึ่งฟ้องคดีแบบกลุ่มในตลาดทุน ตอนเปิดบันทึกหน้าใหม่นักลงทุน

HoonSmart.com>>เปิดบันทึกหน้าใหม่ของนักลงทุนไทย รวมตัวฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทจดทะเบียนที่ต้องติดตามผลในปี 2568 จะเป็นบรรทัดฐานในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของรายย่อย

ในปี 2568 มีคดีฟ้องแบบกลุ่ม หรือ Class Action บริษัทจดทะเบียนที่จะต้องติดตาม ประกอบด้วย 1.STARK ที่ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เป็นตัวแทนฟ้องกลุ่มให้กับนักลงทุนรายย่อย โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นคดีแรกเกี่ยวกับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ

นอกจากนี้ ต้องติดตามว่ากรณีโรงพยาบาลธนบุรี จะมีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่ อย่างไร

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ในประเทศไทย ที่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างกว้างขวาง เพราะยั่งยาก ซับซ้อน ที่ต้องอาศัยผู้นำฟ้อง และทนาย ที่มีความรู้ มีความตั้งใจ ในการปกป้องนักลงทันรายย่อยอย่างจริงใจ แต่กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เพราะเป็นการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับคนหมู่มากที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับ ปี 2567 ที่ผ่านมา มีคดีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. มีการยื่นฟ้องบริษัทจดทะเบียนที่พบว่าบริหารงานผิดพลาดหรือเกิดการทุจริตภายในทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งโดยคดีทางอาญามี 13 คดี เพิ่มขึ้นจาก 8 คดีเมื่อเทียบกับปี 2566 คดีแพ่ง 10 คดี มีผู้กระทำความผิด 53 ราย เพิ่มขึ้นจาก 7 คดีและ 22 รายในปี 2566 กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดหุ้นกู้

ดร. ธรรมนูญ อานันโทไทย ผู้เชี่ยวชาญตลาดเงินตลาดทุน ที่อยู่ในวงการตลาดทุนมากกว่า 35 ปีและมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือ IPO รวม 19 บริษัทมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท กล่าวว่า การฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือ class action เกิดขึ้นมานานแล้วในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาและตลาดประเทศที่เจริญแล้วโดยมีกฎหมายให้สิทธิ์แก่นักลงทุนในการเรียกร้องความเสียหายจากบริษัทจดทะเบียนหรือจากผู้ผลิตสินค้าที่ไม่เป็นไปตามที่นำเสนอขาย

ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา กฎเกณฑ์การกำกับบริษัทจดทะเบียน จะเป็นแบบให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนดที่เหลือนักลงทุนจะเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง ทางหน่วยงานกำกับจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ตราบใดที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนด

แตกต่างจากตลาดทุนไทยที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ค่อนข้างมากเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลและระเบียบการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนทำให้บริษัทหลายบริษัทมีการออกไปจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะตลาดทุนไทยยังมีขนาดเล็กมีมูลค่าทางการตลาดรวมอยู่ในระดับประมาณ 5.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาทซึ่งน้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ประมาณ 41 เท่า ประกอบกับนักลงทุนส่วนใหญ่ถึง 80-85% ของไทยเป็นนักลงทุนรายย่อย ในขณะที่ตลาดหุ้นอเมริกา 85% เป็นนักลงทุนสถาบันจึงเกิดการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือ class action ได้ง่ายกว่า

ขณะที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของทนายความว่าทนายความที่ดำเนินคดีในเรื่องนี้จะได้รับ ผลตอบแทน 1 ใน 3 ของมูลค่า การชดใช้ เช่นมูลค่าการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หากชนะทนายความจะได้ประมาณ 33 ล้านเหรียญสหรัฐ ทันที

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตการฟ้องคดีแบบกลุ่มบริษัทจดทะเบียนรวมถึงกรณีธุรกิจอื่นๆในประเทศไทยจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ครั้งต่อไป จะนำเสนอกรณีศึกษาการฟ้องคดีแบบกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา