TU เดินหน้า Blue Finance ระยะที่ 2 ได้สินเชื่อโยงยั่งยืน 11,485 ลบ.

HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยนฯ” (TU) ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ประกาศความสำเร็จในการจัดหาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan หรือ SLL) มูลค่า 11,485 ล้านบาท จาก 4 กลุ่มสถาบันการเงิน ถือเป็นการเริ่มระยะที่ 2 ของโครงการ Blue Finance มีเป้าหมายจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ได้ 75% ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวภายในปี 68 ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® 2030

กลุ่มธนาคารชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารเอชเอสบีซี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารเอ็มยูเอฟจี  (MUFG) ธนาคารมิซูโฮ  และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ได้จับมือร่วมกันในการให้การสนับสนุนการจัดหาเงินทุนครั้งใหม่นี้ในฐานะผู้จัดการเงินกู้ร่วม (Mandated Lead Arranger และ Bookrunner หรือ MLAB) และผู้ประสานงานด้านดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Coordinators) มูลค่า 11,485 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มระยะที่ 2 ของโครงการ Blue Finance   ทั้งนี้ ในระยะแรกเกิดขึ้นระหว่างปี 2563-2565 ไทยยูเนี่ยนประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน นับเป็น 50%ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวของบริษัท

สำหรับสินเชื่อ SLL ครั้งใหม่นี้ จะมีการออกให้ทั้งในสกุลเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐระยะเวลา 3 และ 5 ปี ซึ่งความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญ ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของไทยยูเนี่ยนในด้านความยั่งยืน และนอกจากการเข้าถึงการเงินที่ยั่งยืนแล้ว บริษัทยังจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ได้ตามที่กำหนดด้วย

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารชั้นนำที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ที่ไทยยูเนี่ยน ความยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ นับตั้งแต่ที่บริษัทได้เปิดตัวกลยุทธ์ความยั่งยืนครั้งแรกในปี 2559 ได้นำความยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจทั่วโลก ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา SeaChange® มีบทบาทสำคัญในการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน และในปี2566 บริษัทได้เปิดตัวกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สำหรับสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเป้าหมายในการทำงานด้านความยั่งยืน SeaChange® 2030 เข้ามาเป็นตัวชี้วัดอัตราดอกเบี้ย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำงานด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่าการทุ่มเทให้กับการทำงานด้านความยั่งยืนมาโดยตลอดจะช่วยส่งเสริมให้ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้นำในตลาดเงินและตลาดทุนได้เช่นกัน

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนภายใต้ SeaChange® 2030 ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPIs) และการกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) จึงมุ่งเน้นไปที่ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทในด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เช่น การรักษาอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ในหมวดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร และกรอบที่ใช้วัดผลเกี่ยวกับเงินทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนเป็นไปตามระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสโคปที่ 1, 2, และ 3 ซึ่งสอดคล้องกับองค์กร Science-Based Targets Initiative (SBTi) เพื่อเป้าหมายในการก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2593

ไทยยูเนี่ยนถือว่าเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกแห่งแรก ที่มีการกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่ได้การรับรองจากองค์กร SBTi นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้ กรอบการดำเนินงานของสินเชื่อ SLL ยังเพิ่มเติมจากเดิมในเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีความรับผิดชอบ[1] โดยผ่านการตรวจสอบรับรองและความร่วมมือในโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Improvement Project หรือ AIP) เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกอีกด้วย

ดีเอ็นวี (DNV) ได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ชำนาญการอิสระที่ให้ความคิดเห็นและรายงานเกี่ยวกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน และการกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงให้การยืนยันถึงความสอดคล้องตรงกันกับหลักการของสินเชื่อ SLL โดยจะมีองค์กรภายนอกอื่นเข้ามาทำการตรวจสอบความคืบหน้าอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่ามีการประเมินอย่างยุติธรรมและเป็นอิสระ

มร. จอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดหาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนครั้งนี้สะท้อนถึงความทุ่มเทที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้มีความยั่งยืน การเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกรายแรกที่กำหนดเป้าหมาย ถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน ซึ่งธนาคารเอชเอสบีซีจะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่องค์กรมี เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มร. เคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  กล่าวว่า กรุงศรียินดีให้การสนับสนุนไทยยูเนี่ยนในโครงการสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่อในระยะที่ 2 โดยกรุงศรี และ MUFG มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการมุ่งมั่นส่งเสริมแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติและทำงานประสานกันเพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราบรรลุความสำเร็จบนเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการจัดหาเงินทุนตามแนวทางด้าน ESG การดำเนินการเหล่านี้ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของเราในการขับเคลื่อนและสนับสนุนลูกค้าบนเส้นทาง ESG เพื่อมุ่งสู่สร้างอนาคตที่สดใสและมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะความยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่เป้าหมาย หากแต่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานสู่ความสำเร็จ

มร. แรนดี้ ลู กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายโกลบอล คอร์ปอเรท แบงกิ้ง ธนาคารเอ็มยูเอฟจี ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า MUFG รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับไทยยูเนี่ยนในการสร้างโลกที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป บทบาทของธนาคารใน Blue Finance ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่สอดคล้องกันกับไทยยูเนี่ยนในด้านความยั่งยืน และความสามารถของ MUFG ในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของเราในเอเชียแปซิฟิกอย่างเต็มที่ รวมถึงการใช้ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคารกับกรุงศรีเพื่อมอบความสำเร็จสูงสุดให้กับลูกค้ารายใหญ่ ขอแสดงความยินดีกับไทยยูเนี่ยนอีกครั้งสำหรับความสำเร็จในการจัดหาแหล่งเงินทุนในครั้งนี้

มร. เคอิ ชิโรตะ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า  มิซูโฮขอแสดงความยินดีกับไทยยูเนี่ยนอีกครั้งในความสำเร็จทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนนี้ และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย Blue Finance ระยะที่ 2  ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืนโดยพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เรียนรู้ว่าไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนที่ท้าทาย ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามและทรัพยากรอย่างมากในการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดมากกว่าการดำเนินธุรกิจทั่วไป และเป็นแบบอย่างที่ดีของบริษัทอื่นๆ ในประเทศไทยและบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมทั่วโลก

“มิซูโฮเชื่อว่าการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนนี้จะมีส่วนช่วยให้ไทยยูเนี่ยนประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”

มร. ทาคาชิ โทโยดะ Country Head of Thailand and General Manager of Bangkok Branch ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) กล่าวว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น  ได้มีส่วนสนับสนุนไทยยูเนี่ยน ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของภาคธุรกิจและโดดเด่นเรื่องความริเริ่มในโครงการด้านความยั่งยืนที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลอดจนสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมไทยยูเนี่ยนมีการใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่นับได้ว่าสร้างมาตรฐานใหม่ในระดับสูงให้กับอุตสาหกรรม และมีความสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทที่เน้นหลักการด้าน ESG และด้วยความสามารถของ SMBC ในการจัดหาโซลูชั่นนวัตกรรมทางการเงินซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะสำหรับองค์กรที่ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน

“SMBC มุ่งหวังความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกฝังแนวปฏิบัติทางการเงินที่ยั่งยืน และส่งเสริมแนวคิดริเริ่มของบริษัท ไทยยูเนี่ยนที่มีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อภาพรวมของ ESG ในระดับสากล”

มร. โทมัส ลีโอนาร์ด หัวหน้าแผนก Sustainability Services, Supply Chain & Product Assurance บริษัท ดีเอ็นวี (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนไทยยูเนี่ยนในการออก สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ผ่านทางการให้ความเห็นในฐานะผู้ชำนาญการอิสระ

DNV ได้ข้อสรุปว่า เป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ทั้ง 4 มีความหมาย มีความเกี่ยวข้องกับบริบทของความยั่งยืนและกลยุทธ์ทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยน นอกจากนั้นยังแสดงถึงการพัฒนาปรับปรุงอย่างสำคัญภายในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทั้ง 4 ได้แก่ (1) ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Top 5% บริษัทชั้นนําในหมวดหมู่ดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร DJSI ตาม S&P Yearbook (2) ลด Scope 1 & 2 GHG Emission ลง 42% ภายในปี 2573 เทียบจากข้อมูลฐานใน ปี 2564 (3) ลด Scope 3 GHG Emission ลง 42% ภายในปี 2573 เทียบจากข้อมูลฐานในปี 2564 และ (4) กุ้ง 100% ได้รับการรับรองมาตรฐานที่ได้รับการเทียบเคียงโดย GSSI หรืออยู่ภายใต้ Aquaculture Improvement Program หรือ AIP ภายในปี 2573

เป้าหมายทั้ง 4 ข้อที่ทางไทยยูเนี่ยนได้ตั้งไว้นั้น สูงกว่าการดำเนินงานทางธุรกิจทั่วไป ซึ่งถือว่ามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างสูง นอกจากนี้ DNV ยังได้ตรวจสอบแนวทางการปฏิบัติว่ามีความน่าเชื่อถือ และสามารถทำได้ภายในกรอบเวลาที่ตั้งไว้

จากข้อมูลที่ทางไทยยูเนี่ยนได้นำเสนอ และจากการประเมินของ DNV มีความเห็นว่ากรอบการทำงานของการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตรงตามเกณฑ์ข้อกำหนดที่ได้วางไว้ตามมาตรฐานสากล เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้มีสาระสำคัญ และเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินงาน มีความมุ่งมั่น และมีความหมายในการปฏิบัติงานของไทยยูเนี่ยน

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SeaChange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนระดับโลกของไทยยูเนี่ยนได้ที่ https://seachangesustainability.org/