PWC เผยนักลงทุน 24 ชาติฟันธง ยุคนี้เทคโนโลยีดันธุรกิจรอด

HoonSmart.com>>PwC เผยผลสำรวจ Global Investor Survey ประจำปี 2567 ของนักวิเคราะห์ นักลงทุน 24 ประเทศทั่วโลก ชี้เทคโนโลยีมาเป็นอันดับหนึ่งในการขับเคลื่อนบริษัท

ทั้งนี้ PwC รวบรวมความคิดเห็นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวน 345 รายจาก 24 ประเทศและอาณาเขตต่าง ๆ พบนักลงทุนมองการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ

ที่พวกเขาลงทุน (71%) นำหน้ากฎระเบียบของภาครัฐ (64%) ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป (61%) และความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทาน (60%) 

นอกจากนี้ 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามเรียกร้องให้ธุรกิจที่พวกเขาลงทุนหรือครอบคลุมการลงทุน พัฒนาทักษะของพนักงาน

นอกจากนี้ 32% คาดหวังว่า AI จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนพนักงาน 5% ขึ้นไป ซึ่งเท่ากับสัดส่วนที่คาดว่าจำนวนพนักงานจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย (31%) 

นาย พิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนไทย มีความคาดหวังให้บริษัทที่พวกเขาลงทุนนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างรายได้ และผลกำไรไม่แตกต่างไปจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่เริ่มตระหนักแล้วว่าควรนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อขยายขีดความสามารถและสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น

ในปัจจุบัน มีบริษัทไทยจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนนำ AI มาใช้งานควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะของพนักงาน และมีแนวโน้มที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปก็หันมาสนใจในเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยจะศึกษาข้อมูลเหล่านี้ผ่านรายงานความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนของไทยส่วนใหญ่มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ผ่าน One Report แต่มีบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และกระบวนการจัดการความเสี่ยงผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี การได้รับการตรวจสอบ ESG Assurance จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรายงานของบริษัทที่ได้ทำการเปิดเผยแก่นักลงทุน

นาย เวส บริคเกอร์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีระดับโลก PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า นักลงทุนคาดหวังที่จะเห็นผลลัพธ์ที่แท้จริงจาก GenAI ในปีหน้า และตระหนักดีว่าการบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในบุคลากรและการพัฒนาทักษะใหม่ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี

ในขณะที่ฝ่ายบริหารจะถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจาก AI ได้อย่างไร รวมถึงสนับสนุนแนวทางที่ขยายขอบเขตไปไกลกว่าแค่ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงวิธีการดำเนินธุรกิจ

กว่า 50% มองเศรษฐกิจปีหน้าโต

นักลงทุนมีมุมมองในแง่ดีอย่างระมัดระวังต่อเศรษฐกิจโลก โดยครึ่งหนึ่ง (51%) คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ใน 12 เดือนข้างหน้า โดยความกังวลด้านเศรษฐกิจมหภาคและเงินเฟ้อลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2565 (จาก 62% เหลือ 34% ในปี 2567 และจาก 67% เหลือ 31%) ขณะเดียวกัน กังวลมากที่สุดในประเด็นเรื่องความเสี่ยงทางไซเบอร์ (36%) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (36%) ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2566 
เนื่องด้วยความเสี่ยงเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่คำนึงถึง นักลงทุนเกือบเก้าในสิบ (86%) จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ความสามารถของบริษัทในการดำเนินธุรกิจให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของพวกเขา

ขณะที่ 60% เชื่อว่า เป็นเรื่องสำคัญมากหรือสำคัญมากที่สุดที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องพิจารณารูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทาน และ 68% กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ควรเพิ่มการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงนี้ 

จับตาแผนลดโลกร้อน
 
นักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ โดย 30% คาดหวังว่า บริษัทที่พวกเขาลงทุนจะมีความเสี่ยงสูงหรือสูงมากต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใน 12 เดือนข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นแปดจุดจากปี 2565 แม้ว่าจะลดลงสองจุดจากปี 2566 

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 75% ยังเห็นด้วยว่า พวกเขาจะเพิ่มการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในระดับปานกลางหรือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ดำเนินการเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนผ่านการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และชุมชน (80%) เมื่อประเมินถึงแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทต่าง ๆ นักลงทุนกล่าวว่า การกำกับดูแล (72%) และค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนหรือการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง (68%) มีความสำคัญมากหรือมากที่สุด

นอกจากนี้ 71% กล่าวด้วยว่า บริษัทต่าง ๆ ควรผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, social and governance: ESG) และความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กรโดยตรง ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2566 

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่ายังคงมีความท้าทายอยู่มาก โดย 44% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นพ้องว่า รายงานของบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมักมีคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนในระดับมากหรือมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงสองปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ 73% จะเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดในรายงานการตรวจสอบข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับที่เทียบเท่ากับการตรวจสอบรายงานทางการเงิน 

น.ส.นาดจา พิคาร์ด ผู้นำด้านการรายงานระดับโลก PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า นักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแล ผลกระทบทางการเงิน และความมุ่งมั่นของแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่าง ๆ จึงควรผนวกประเด็นเรื่ิองความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่บรรดานักลงทุนพิจารณาถึงการเปิดเผยข้อมูลและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพื่อประเมินการดำเนินงานของบริษัท

โฟกัสงบการเงิน+ CG&นวัตกรรม

นักลงทุนให้ความสำคัญกับข้อมูลหลากหลายประเภทนอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการกำกับดูแลกิจการ (40%) และนวัตกรรม (37%) นักลงทุนส่วนใหญ่ยังรายงานด้วยว่า พวกเขาพึ่งพาแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง รวมถึงการสื่อสารที่เน้นไปที่นักลงทุน (61%) และการพูดคุยโดยตรงกับบริษัท (57%) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีนักลงทุนน้อยลงอย่างมาก (55%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (66%) ที่รายงานว่า พวกเขาพึ่งพางบการเงินและการเปิดเผยหมายเหตุประกอบงบการเงินในระดับสูงหรือสูงมาก

ทั้งนี้ ในขณะที่นักลงทุนมองหาข้อมูลเชิงคุณภาพมากขึ้น AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่บริษัทต่าง ๆ เผยแพร่ โดยรายงานระบุว่า เกือบสองในสาม (62%) กล่าวว่า AI ได้เพิ่มความสามารถในการดำเนินการดังกล่าวได้อย่างมากหรือปานกลาง 

นาย กาซี อิสลาม ผู้นำด้านกลยุทธ์และการเติบโตด้านการตรวจสอบระดับโลก PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของตลาดทุน แต่กระแสข้อมูลที่แพร่หลายในปัจจุบันมีทั้งคุณและโทษ ผู้นำธุรกิจจึงต้องสื่อสารให้นักลงทุนรับทราบถึงสิ่งที่มีความสำคัญต่อธุรกิจของพวกเขา โดยเพิ่มความโปร่งใสและความสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสร้างความเชื่อมั่นผ่านการสื่อสาร และในขณะที่ AI มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณได้ง่ายขึ้น การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพของผู้นำบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

 
———————————————————————————————————————————————————–