CPF ขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ชูดอกเบี้ย 5 ปีแรก 5.55% ต่อปี

HoonSmart.com>> “ซีพีเอฟ” (CPF) พร้อมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ดีเดย์ 28-30 พ.ย. และ 1 ธ.ค.66 อัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกอยู่ที่ 5.55% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ “A+” อันดับความน่าเชื่อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่ “A-” จองซื้อผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 11 แห่ง

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) พร้อมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทฯ (หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ) ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ในระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย. และ 1 ธ.ค.2566 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 11 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) โดยบริษัทฯ กำหนดอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ในช่วง 5 ปีแรกที่ 5.55% ต่อปี จากนั้นจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก ๆ 5 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ ขณะนั้น บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มเติม (ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน)

ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ของ “ซีพีเอฟ” ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “A-” และอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ “A+” แนวโน้ม “Negative” จากทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 สะท้อนความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรที่มีฐานการผลิตใน 17 ประเทศทั่วโลก และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารไปกว่า 40 ประเทศ ครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก

ปัจจุบัน “ซีพีเอฟ” ดำเนินธุรกิจหลักจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) 2.ธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป (Farm and Processing) และ 3.ธุรกิจอาหาร (Food) ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก” ซีพีเอฟจึงได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัย สนับสนุนการผลิตและการแปรรูปเนื้อสัตว์อย่างมีคุณภาพ ขยายการผลิตอาหารพร้อมรับประทานเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบการผลิตที่ปลอดภัย มีสินค้าที่สามารถตอบสนองความพึงพอใจและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ เช่น หมูชีวา ที่มีไขมันดีและมีโอเมก้า 3 สูง ไก่เบญจาที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้องคัดพิเศษเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ และอาหารประเภทโปรตีนทางเลือก (Plant Based Food) และยังให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม และสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมด้วยความใส่ใจในผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

ทางด้านสถาบันการเงินในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย มั่นใจว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ “ซีพีเอฟ” จะได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ซึ่งนอกจากเรื่องของอัตราผลตอบแทนที่เป็นปัจจัยในการพิจารณาแล้ว หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ของ “ซีพีเอฟ” ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ โดยเฉพาะศักยภาพของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอาหารในระดับสากล และการบริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยที่ผ่านมา “ซีพีเอฟ” ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน และได้รับการบันทึกในรายงาน The Sustainability Yearbook 2023 ของ S&P Global ซึ่งเป็นรายงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยสามารถรักษาตำแหน่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ตอกย้ำความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (ESG) ได้เป็นอย่างดี

สถาบันการเงินในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายกล่าวเสริมว่า “ในส่วนของลักษณะของหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ที่มีคำว่า “ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท” ถึงแม้จะมีความหมายว่าบริษัทจะคืนเงินต้นก็ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด เมื่อหุ้นกู้นี้มีอายุครบ 5 ปีแล้ว หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขของการนับเป็นส่วนของทุน การคิดภาษี หรือการลงบัญชี บริษัทก็สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้นี้ก่อนครบกำหนดได้ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ซีพีเอฟได้ไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ก่อนครบกำหนดไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2565 เมื่ออายุครบ 5 ปี”