ดาวโจนส์ปิดบวกเล็กน้อย 15 จุด รอข้อมูล PCE

HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นสหรัฐเปิดพุ่งแรง แต่ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 15 จุด  ส่วน S&P 500 และ Nasdaq ติดลบเล็กน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 4.594% สูงสุดในรอบเกือบ 7 เดือน  ตลาดหุ้นยุโรป-ราคาน้ำมันดิบลดลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่  19 ธ.ค.2567 ปิดที่ 42,342.24 จุด เพิ่มขึ้น 15.37 จุด หรือ +0.04% ฟื้นตัวจากที่ดิ่งลงในวันก่อน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)คาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยครั้งกว่าที่คาดและคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีหน้า

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,867.08 จุด ลดลง 5.08 จุด, -0.09%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,372.77 จุด ลดลง 19.92 จุด, -0.10%

ในช่วงแรกของการซื้อขายดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากกว่า 460 จุด และดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นมากกว่า 1% มาที่ระดับสูงสุดของวัน แต่ก็ปรับตัวลงและปิดลบ หุ้น 7 กลุ่มจาก 11 กลุ่มใน S&P 500 ปิดท้ายวันในแดนลบ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีก็เพิ่มขึ้นเป็นวันที่สองเช่นกัน โดยอยู่ที่ 4.594% สูงสุดในรอบเกือบ 7 เดือน

การรายงานข้อมูลเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับมุมมองของเฟด ที่ว่าเศรษฐกิจและตลาด แรงงานยังคงแข็งแกร่ง ทั้งการขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นรายสัปดาห์ที่ลดลงมากกว่าที่คาด โดยจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 22,000 ราย มาที่ 220,000 ราย ซึ่งต่ำกว่า 229,000 รายที่นักวิเคราะห์คาด ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาสที่สามก็มีการปรับขึ้นเป็น 3.1% จาก 2.8% ที่รายงานไว้ก่อนหน้านี้

พอล มีค ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนร่วมของ Harvest Portfolio Management กล่าวกับ “Squawk Box” ของ CNBC เมื่อวันพฤหัสบดีว่า การปรับฐานรอบนี้น่าจะกินเวลานาน หุ้นยอดนิยม Nvidia ก็ร่วงมาแล้ว ดังนั้นขอให้นักลงทุนเตรียมพร้อมไว้

ตลาดทรุดตัวลงเมื่อวันพุธ หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงสองครั้งในปีหน้า น้อยกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสี่ครั้งในการคาดการณ์ครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน เฟดยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งในปี 2024 และ 2025 ขึ้นเป็น 2.8% และ 2.5% จากเดิมที่ 2.6% และ 2.2% ตามลำดับ

ตอนนี้เทรดเดอร์มองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25%ภายในกลางปี ​​​​2025 และมองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดน้อยกว่าสองครั้งภายในสิ้นปี เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในสัปดาห์ที่แล้วว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยสามครั้ง
นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพฤศจิกายน ในวันนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE จะเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.9%

ทางด้านตลาดยุโรปปิดลบ โดยดัชนี STOXX ลดลงภายในวันเดียวมากสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากนักลงทุนหนีออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยที่ช้าลงในปีหน้า

ดัชนี STOXX 600 ปิดลดลง 1.5% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยหุ้นทุกกลุ่มปิดในแดนลบ

ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนหลังจากที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยตามที่คาดไว้ในวันพุธ แต่ประธานเจอโรม พาวเวลล์กล่าวว่า การจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกนั้น ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการลดอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง

นอกจากนี้ธนาคารกลางอื่นๆ ปิดท้ายปีของการตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญ โดยธนาคารกลางของอังกฤษ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ออสเตรเลีย คงอัตราดอกเบี้ย ส่วนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์และแคนาดาลดลดอกเบี้ยลง 0.50% ธนาคารกลางสวีเดนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนไหวต่ออัตราเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ลดลงเป็นอันดับต้น ๆ โดยลดลง 2.4% กลุ่มเทคโนโลยีก็ลดลง 2.4% หลังจากหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลง

หุ้นชิปทั้ง ASML, Infineon Technologies และ STMicroelectronics ลดลงระหว่าง 3.7%
ถึง 6.2% ได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์รายไตรมาสของบริษัท Micron Technology ในสหรัฐฯ

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 506.66 จุด ลดลง 7.77 จุด, -1.51%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,105.32 จุด ลดลง 93.79 จุด, -1.14%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,294.37 จุด ลดลง 90.25 จุด, -1.22%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 19,969.86 จุด ลดลง 272.71 จุด, -1.35%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมกราคม ลดลง 67 เซนต์ หรือ 0.95% ปิดที่ 69.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 51 เซนต์ หรือ 0.69% ปิดที่ 72.88ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 
 
———————————————————————————————————————————————————–