GUNKUL คว้า 7 โครงการ 319 MW หนุนกำลังผลิต 1,800 MW เป้ารายได้ทะลุ 1 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>”กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” (GUNKUL) แกร่ง!คว้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 จำนวน 7 โครงการรวม 319 MW หนุนกำลังกำลังการผลิตพุ่งเป็น 1,800 MW  กางแผนธุรกิจปี 68 โต รับดีมานด์ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ฟาก “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์”ประกาศเดินหน้าประมูลโครงการพลังงานทดแทนเพิ่ม เสริมศักยภาพรายได้และกำไร  ปักธงรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท อานิสงส์ธุรกิจพลังงานทดแทน-รับเหมาฯ-วางระบบด้านวิศวกรรม (EPC) เทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง  GUNKUL) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2568 เชื่อว่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2567 เนื่องจากภาพรวมตลาดยังมีศักยภาพทั้งงานจากโครงการพลังงานทดแทนรอบใหม่ และงานของภาครัฐที่มีงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมตามความต้องการใช้ไฟฟ้า  บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งเข้าเป้า 15% จากปีก่อนหลักๆ การเติบโตยังคงมาจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า

บริษัทฯ ตั้งเป้างานในมือจากธุรกิจ EPC ไว้ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าคาดกำลังการผลิตเติบโต 35% ใน 2 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 1,500 เมกะวัตต์

ล่าสุดสำนักงานกกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 กำลังการผลิตที่เสนอขายรวม 2,145 เมกะวัต์ ซึ่งกลุ่มบริษัทย่อยที่ GUNKUL ถือหุ้นทางตรงผ่านบริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเม้นท์   และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี9  ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 319 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 284 เมกะวัตต์ และโซลาร์กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ โดยจะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปี 2570-2573 ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็นประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับเป้าหมายสะสมเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2569 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังงานลม

ขณะที่โครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวน 832 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าวินด์ฟาร์ม ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปก่อนหน้านี้ จะทยอย COD ได้ตั้งแต่ปี 2569-2573 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ และปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

“ บริษัทในกลุ่มของ GUNKUL ยังได้ประโยชน์จากการประกาศบริษัทได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ารอบนี้ เพราะเราดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขายสินค้าในระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะงานรับเหมาฯที่จะได้รับโอกาสทำสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมองว่าในอนาคตหากประเทศไทยมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและต้องการมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น GUNKUL ก็ยังมีโอกาสในการที่จะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นรวมถึงภาคเอกชนที่ตอนนี้ก็หันมาใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์เพิ่มมากขึ้นจึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโซล่าห์ที่เป็น Private PPA ของ GUNKUL จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน”นางสาวโศภชากล่าว

สำหรับโครงการที่บริษัทฯ ได้มาใหม่ถ้าอยู่ในกลุ่มหนึ่ง สามารถเซ็นรับเงื่อนไขของสัญญา PPA ได้ภายใน 14 วันนับจากวันที่ประกาศ คาดว่าน่าจะเซ็นได้ภายในต้นปี 2568  ส่วนกลุ่มสอง คาดว่าจะสามารถเซ็นรับเงื่อนไขของสัญญาได้ภายใน 60 วัน หลังจากประกาศ เนื่องจากต้องมี Common Facilities Sharing ตามเงื่อนไขของการไฟฟ้าก่อน