HoonSmart.com>>”ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจปี 68 เติบโต 3% จากส่งออกและท่องเที่ยวยังดี บนความไม่แน่อนและความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปในทิศทางขาลง คลังส่งสัญญาณชะลอขาดดุล ลดการก่อหนี้ คาดกระตุ้นถึงกลางปี นโยบายการเงินจะต้องเป็นกองหน้าเร่งลดดอกเบี้ย ยอมเงินเฟ้อสูง ให้คนมีรายได้ใช้หนี้ ชู 3 ธุรกิจดาวเด่น อาหาร-ท่องเที่ยว-โรงพยาบาล ส่วนแบงก์เหนื่อยต่อ ด้าน KTC ตั้งเป้าปี 68 ใช้จ่ายผ่านบัตรโต 10% เท่าปีนี้ สินเชื่อบวก 4-5% ฟื้นจากติดลบ
บริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเวทีเสวนา KTC FIT Talk 13 “โฟกัสเศรษฐกิจปี 2568: โอกาสและความท้าทาย” มองแนวโน้มเศรษฐกิจ การรับมือความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้น โดยมีดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และนายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ ผู้อำนวยการ-การเงิน บริษัทบัตรกรุงไทย ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ณ “เคทีซี” อาคารยูบีซี 2 วันที่ 17 ธ.ค. 2567
ดร. ศุภวุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2568 จะเติบโต 3 % ฟื้นตัวจากปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.7% จากการส่งออกขยายตัว การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อ คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับก่อนเกิดโควิด 19 แต่รายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจะขยายตัว 2.9% ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปในทิศทางขาลง อาทิ นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ”ทรัมป์” และภูมิรัฐศาสตร์
“เศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัม แต่จะเริ่มแผ่วอีกหรือป่าว ไม่รู้ ที่ผ่านมาฟื้นแบบกระท่อนกระแท่น ฟังจากรมว.คลังพูดว่าจะชะลอการขาดดุลงบประมาณ และการก่อหนี้สาธารณะ ก่อนที่จะถูกลดเรทติ้งจากหนี้สูง คาดแรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงกลางปีหน้า ชัดเจนว่านโยบายการคลังจะเริ่มถอยในครึ่งปีหลัง ดังนั้นนโยบายการเงินจะต้องเป็นกองหน้าในการลดดอกเบี้ย มิเช่นนั้นเศรษฐกิจจะลง ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ จะต้องสร้างการจ้างงาน ขอให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงจะแก้หนี้ได้”ดร. ศุภวุฒิกล่าว
ประธานสภาพัฒน์คาดว่าการประชุมกนง.รอบสุดท้ายของปีนี้ จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย สงสัยว่าจะปรับลดดอกเบี้ยกลางปี 2568 คาดทั้งปีจะลด 2 ครั้ง สถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ธปท.คงจะเห็นการใช้นโยบายการเงินตรึงตัวเกินไป เริ่มจากไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.25% เป็น 2.5% ถือว่าตัดสินใจช้าไปกว่า 2 ปีแล้ว และปัจจุบันน่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5% ดอกเบี้ยที่แท้จริงหักเงินเฟ้อ ควรจะเป็น 0.5 % หรือ 0.75% ไม่ใช่ 2% สูงมากเหมือนตอนนี้ เศรษฐกิจเติบโต 5% รวมเงินเฟ้อ ดีกว่าปีนี้ที่โตไม่ถึง 3% เงินเฟ้อโตเพียง 0.3% เงินเฟ้อเป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจ ต้องยอมให้สูง ธปท.กลัวค่าเงินบาทอ่อนแล้ว เงินเฟ้อสูง จึงใช้นโยบายการเงินตั้งเป้าเงินเฟ้อ ใช้ดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ แต่ไม่สนใจเรื่องอะไรเลย
ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะผันผวนแน่นอนปี 2568 แต่ไม่รู้ว่าจะอยู่ที่เท่าไร เพราะไม่รู้ว่าทรัมป์ จะมีนโยบายอย่างไร หรือจีนทำให้ค่าเงินอ่อน เงินบาทก็อ่อนด้วย ถ้าธปท.ลดดอกเบี้ยช้าลง จะทำให้ค่าเงินเสื่อม ที่สหรัฐ เงินเฟ้อ 3% ส่วนไทยเงินเฟ้อ 0.3% ทำให้เงินบาทแข็ง เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าเป้าหมายตลอด สะท้อนว่าการใช้นโยบายการเงินตรึงจนเกินไป สหรัฐยอมเงินเฟ้อสูง สร้างดุลภาพระยะยาว ส่วนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีนิติบุคคล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องประเมินว่าจะคุ้มค่าหรือไม่
ดร. ศุภวุฒิ กล่าวถึงธุรกิจที่สดใส ได้แก่ ธุรกิจอาหาร ท่องเที่ยวและโรงพยาบาล ซึ่งหุ้นโรงพยาบาล นักลงทุนให้ P/E สูง ให้รายได้ในอนาคตสูง รัฐบาลควรช่วยให้ธุรกิจทำง่ายขึ้น ช่วย SME รอดหลังจากปรับโครงสร้าง ส่วนนโยบายด้านพลังงาน จะจัดการอย่างไร เพราะมีความสำคัญกับความสามารถในการแข่งขัน จะต้องเลือกว่าจะขุดเจาะแก๊สกับเขมร หรือเร่งทำโซลาร์ และสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากเลือกพลังงานนิวเคลียร์ จะต้องรอไป 10 ปี เพราะมีความต้องการสูงมาก รัฐจะอุดหนุนราคาไปตลอดเหมือนปัจจุบันไม่ได้
สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบัยังต้องแก้หนี้ ส่วนหนี้ใหม่จะต้องระมัดระวัง เดาว่าหลายแบงก์ สินเชื่อโตใกล้ศูนย์ หรือโตหลักเดียวต่ำ
ทางด้านนายอภิเชษฐ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโต 2.9% ในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกในภูมิภาค การที่สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีก 60% และขึ้นภาษีทั่วไป 10% สำหรับประเทศอื่นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ในระยะสั้น จากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังอาเซียน (China+1) แม้ว่าในระยะยาวอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออกก็ตาม
แนวโน้มเศรษฐกิจจะโตสูงสุดในไตรมาส 4/2567 และไตรมาส 1/2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่าธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1.50-2.00% สอดคล้องกับทิศทางทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลยังคงมีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่อง โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกของ 2568
“ความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2568 จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก ควบคู่ไปกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว “นายอภิเชษฐ์กล่าว
สำหรับภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม บริการสุขภาพที่ได้ประโยชน์จากสังคมผู้สูงอายุ และสถาบันการเงินที่มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและปรับตัวสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตจากเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้มากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ความ ฃท้าทายสำคัญยังคงเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รวมถึงการปรับตัวต่อกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและการแข่งขันจากผู้ให้บริการเดิมและผู้เล่นใหม่ KTC พร้อมที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย
นายอภิเชษฐ์ กล่าวถึงทิศทางธุรกิจ KTC ในปี 2568 จะนำพาองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืนด้วย 3 องค์ประกอบ คน ระบบและเทคโนโลยี เราเชื่อมั่นว่าการทำความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และการวางแผนกลยุทธ์ที่รอบคอบ จะช่วยให้เคทีซีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่โลกเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรามุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยบริการทางการเงินที่ทันสมัยและครบวงจร พร้อมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2568 และต่อไปในอนาคต
ผลการดำเนินงานในปี 2567 เคทีซีทำกำไรสุทธิ 5,549 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรก และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายกำไรสุทธิ 7,295 ล้านบาทในสิ้นปี สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยพอร์ตสินเชื่อรวมคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4-5% พร้อมรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อให้มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL (Non-Performing Loan) ไม่เกิน 2.0% เคทีซียังวางแผนเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 10% โดยใช้กลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และขยายผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) เติบโต 3% และยอดลูกหนี้ใหม่ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท ด้วยโซลูชันการเงินเฉพาะบุคคลที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
ด้านผลการดำเนินงานในปี 2567 KTC มีกำไรสุทธิ 5,549 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรก คาดว่าสิ้นปีจะโตเข้าเเป้าหมาย 7,295 ล้านบาท สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น พอร์ตสินเชื่อรวมจะเติบโตในอัตรา 4-5% จากปีนี้คาดโตติดลบ พร้อมรักษาคุณภาพให้มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่เกิน 2 % และยังวางแผนเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 10% โดยใช้กลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และขยายผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) เติบโต 3% และยอดลูกหนี้ใหม่ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท ด้วยโซลูชันการเงินเฉพาะบุคคลที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค