HoonSmart.com>>ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจและส่งออกไทยปี 68 เติบโต 3% เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างยั่งยืน แข่งจีนไม่ได้ เลือกผูกมิตรดีกว่า ส่วนผลงานปี 67 คาดยอดสินเชื่อคงค้าง-ภาระผูกพันสูงกว่า 190,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากปีก่อน NPLs ลดลง 1.2% เหลือ 3.49% ทำกำไรสุทธิสูงกว่า 1,000 ล้านบาท
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2568 EXIM BANK จะเดินหน้าบทบาท Green Development Bank อย่างต่อเนื่อง นอกจากมีการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วแล้ว จะมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ พร้อมเปิดตัวธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จัดหาเงินทุน รวมถึงค้ำประกันหุ้นกู้ (Bond Guarantee) ช้วยลดต้นทุน ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) เร่งการเติบโตของสินเชื่อสีเขียว (กรีนบอนด์) และสีฟ้า (บลูบอนด์) ซึ่งมีความต้องการสูงมากตามเมกะเทรนด์ มุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจ ESG เป็น 40% ภายในปี 2568 และเพิ่มเป็น 50% ในปี 2570
กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยรุกตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคในโลกการค้ายุคใหม่ ได้แก่ 1. สินค้าตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาหาร (Food for Security) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศผู้ผลิตอาหารต่อคนมากที่สุดในโลก สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ ทูน่ากระป๋องและไก่แปรรูป น้ำตาลทราย และซาร์ดีนกระป๋อง 2. สินค้ารักษ์โลก (Good for Planet) สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ เม็ดพลาสติกชีวภาพ (Polylactic Acid : PLA) และแผงโซลาร์เซลล์ 3. สินค้าและบริการที่สร้างความสุขหรือประสบการณ์ใหม่ (Mood for Joy) สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องประดับเงิน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นอกจากนี้ สินค้าที่มีโอกาสเติบโตในปี 2568 ได้แก่ สินค้าที่ได้รับผลดีจากนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แก่ สินค้าเครื่องปรับอากาศและหม้อแปลงไฟฟ้าที่ไทยอาจสามารถกลับมาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามที่ได้เคยประกาศนโยบายไว้
“สินเชื่อสีเขียวในกลุ่มโรงไฟฟ้ายังคงมีความต้องการสูง เพราะธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นในหลายประเทศ เช่น CLMV มองโกเลีย ขณะเดียวกันมีธุรกิจของไทยอีกมากมายที่แข่งขันได้ เป็นที่ต้องการในตลาดโลกและจีน สินค้าไหนที่สู้จีนไม่ได้อย่าไปฝืน เมื่อรัฐมีนโยบายช่วยลูกหนี้ ลดภาระในการจ่ายลดลงเป็นเวลา 3 ปี ควรใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว หรือหาทางเป็นพันธมิตรกับจีนแทน “ดร.รักษ์กล่าว
ขณะเดียวกันธนาคารยังคงสนับสนุนธุรกิจส่งออกและการลงทุนที่ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการเซ็น MOU กับธนาคารของจีน นำพาธุรกิจไทยทุกขนาดเข้าสู่ Green Export Supply Chain และมุ่งสู่เป้าหมายธนาคารด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2570 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 สอดคล้องกับความต้องการของโลกในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งประเมินว่าสูงถึง 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ตัวเลข Climate Finance ปี 2565 มีอยู่เพียง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังขาดเม็ดเงินอีกมูลค่ามหาศาลในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการบริโภค ควบคู่กับความต้องการจากต่างประเทศในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งมีแนวโน้มขยายตัว เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2568 จะขยายตัว 3.2% (เท่ากับปี 2567) และการค้าโลกปี 2568 จะขยายตัว 3.4% (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ราว 2.8%) ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่ อาทิ อินเดีย CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อาเซียน 5 ประเทศ และตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2568 สูงถึง 6.5%, 5.3%, 4.5% และ 3.8% ตามลำดับ ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยปี 2568 จะขยายตัว 3% สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและอาหาร และสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องสำอาง อาหารสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ค่าระวางและราคาน้ำมันผันผวน ความผันผวนของค่าเงิน และสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) เป็นผลจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
“ปี 2568 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ที่ทำงานพร้อมกันทั้งจากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่โอกาสของธุรกิจไทยยังมีอยู่อีกมากในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่สามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการตอบโจทย์เทรนด์ของตลาดโลกได้ EXIM BANK จึงเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออก ด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่จะช่วยเสริมหรือติดอาวุธให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้มากขึ้นในเวทีโลก นำพาธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการค้าโลก ” ดร.รักษ์ กล่าว
สำหรับการดำเนินบทบาท Green Development Bank ในปี 2567 ณ สิ้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา EXIM BANK มียอดสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 179,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสูงกว่า 190,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้น 6.8% จาก 177,932 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) คาดว่าจะอยู่ที่ 3.49% ลดลงถึง 1.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการติดตามคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด คาดว่าณสิ้นปีนี้จะสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงกว่า 1,000 ล้านบาท